รพ.ปทุมธานีชี้นโยบาย "ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว" ตอบโจทย์อย่างมาก ช่วยอำนวยความสะดวกประชากรแฝงซึ่งเป็นแรงงานจากต่างจังหวัดให้แอดมิทรับการรักษาในโรงพยาบาลได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางกลับไปขอใบส่งตัว เผยตั้งแต่เริ่มดำเนินการมีผู้ป่วยในรับบริการโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้วกว่า 18,600 ราย
นพ.ธนกฤษณ์ คงขำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนบริการ โรงพยาบาลปทุมธานี กล่าวถึงนโยบายยกระดับบัตรทองผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวว่า โรงพยาบาลปทุมธานี เป็นโรงพยาบาลที่ร่วมดูแลประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง รวมทั้งพัฒนาระบบบริการให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของนโยบายผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวถือเป็นโครงการที่ดีและค่อนข้างตอบโจทย์แก้ปัญหาให้แก่ผู้ป่วย เพราะในพื้นที่ของ จ.ปทุมธานี มีประชากรแฝงที่เป็นแรงงานจากต่างจังหวัดจำนวนมาก เมื่อมีนโยบายนี้เกิดขึ้น คนกลุ่มนี้เมื่อเจ็บป่วยและจำเป็นต้องแอดมิทนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ก็สามารถรับบริการได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อขอใบส่งตัวอีก
นพ.ธนกฤษณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่โรงพยาบาลเริ่มดำเนินการตามนโยบายนี้ในเดือน พ.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยในที่มารับบริการโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้วจำนวน 18,600 คน และผลตอบรับจากผู้ป่วยก็ดีมากเพราะไม่ต้องเสียเวลาไปขอใบส่งตัว ทำให้เกิดความสะดวกอย่างมาก
สำหรับการจัดระบบเพื่อให้บริการโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวนั้น นพ.ธนกฤษณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลทำโครงการในลักษณะที่ใกล้เคียงกับนโยบายนี้มาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว โดยให้กลุ่มคนไข้ฉุกเฉินสามารถแอดมิทโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ดังนั้นเมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายนี้ขึ้นมา โรงพยาบาลจึงไม่ต้องปรับตัวมาก สามารถต่อยอดจากโครงการเดิมและให้บริการผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่
"ขั้นตอนการรับบริการก็ง่ายๆ เรามีจุดบริการลงทะเบียนผู้ป่วยใน ผู้ป่วยไม่ว่าจะมาโรงพยาบาลด้วยช่องทางใด เช่น มาจากแผนกผู้ป่วยนอก จากห้องฉุกเฉิน หรือมาจากต่างจังหวัดแล้วเจ็บป่วยมาโรงพยาบาล ถ้าแพทย์เห็นว่าจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ก็สามารถใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนแล้วแอดมิดได้เลย ไม่ต้องกลับไปเอาใบส่งตัว ซึ่งในเครือข่ายของโรงพยาบาลปทุมธานีเราใช้ระบบ Thairefer ในการบันทึกข้อมูลการรักษาอยู่แล้ว แม้ไม่มีใบส่งตัวเราก็สามารถใช้ระบบนี้ดูข้อมูลประวัติการรักษาได้ แต่ถ้าแพทย์มีความจำเป็นต้องการทราบประวัติการรักษาจริงๆ เช่น ประวัติโรคเรื้อรังหรือประวัติยาที่รักษากับโรงพยาบาลเดิมมานาน ทางแพทย์ก็จะเขียนบันทึกข้อความขอให้แพทย์ต้นทางส่งประวัติการรักษามาให้" นพ.ธนกฤษณ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี นพ.ธนกฤษณ์ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าอยากให้กระทรวงสาธารณสุขหรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนเรื่องระบบไอทีในการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย ทั้งข้อมูลการรักษา ประวัติสุขภาพต่างๆ เพราะในส่วนของ Thairefer ปัจจุบันยังไม่ได้มีการใช้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งข้อมูลผู้ป่วยจะละเอียดหรือไม่ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลต้นทางว่าจะบันทึกข้อมูลได้ละเอียดแค่ไหน แต่ถ้ามีระบบส่งต่อข้อมูลการรักษาที่มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย สามารถเชื่อมต่อกันได้ ก็จะสามารถต่อยอดให้นโยบายนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นโปรแกรม CA Anywhere ซึ่งมีการบันทึกประวัติข้อมูลการรักษา ผลแล็บ ผลเอกซเรย์ เป็นอย่างดี ถ้าสามารถต่อยอดกับโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งได้ ก็จะช่วยพัฒนานโยบายนี้ได้ดียิ่งขึ้น