“สาธิต”ชูอาหารพื้นบ้านเป็นยาตามวิถีธรรมชาติ เดินหน้า โครงการ “อาหารเป็นยา” จ.น่าน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชูอาหารพื้นบ้านใช้เป็นยารักษาแบบวิถีธรรมชาติ พร้อมเดินหน้าโครงการ “อาหารเป็นยา” จ.น่าน สร้างเมืองแห่งอาหารปลอดภัย สร้างมูลค่าและรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่


ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการ “อาหารเป็นยา” จ.น่าน และให้สัมภาษณ์ว่า สมุนไพรไทยเป็นพืชที่มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งสามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพในเบื้องต้น ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่เรื้อรังซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ สามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนำไปสู่การมีสุขภาพดี ชีวิตยืนยาว และยังสามารถสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ นำครัวไทยสู่ครัวโลก ต่อไปในอนาคต


ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ตามเอกลักษณ์แต่ละพื้นถิ่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านอาหาร มีผักพื้นเมือง เช่น มะแขว่น มีสรรพคุณ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ หน่อหวาย มีธาตุสังกะสี สรรพคุณดับพิษร้อน ดับพิษไข้ แก้ไอ บำรุงน้ำดี แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยให้เจริญอาหาร ลดความเครียด ไกยี เป็นสาหร่ายที่มีโปรตีนสูง มีใยอาหารและวิตามินซีสูง เป็นต้น สามารถนำมาประกอบอาหารที่หลากหลาย ซึ่งประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ อาทิ เมนูไก่มะแขว่น, แกงแค, น้ำพริกไกยี, แกงผักอะยิอะเย๊าะ, หลามบอน, ตำหน่อหวาย, แกงส้มเมือง โดย จ.น่าน ได้ดำเนินโครงการ “อาหารเป็นยา” พัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เป็นเมืองแห่งอาหารปลอดภัย ทั้งการผลิต ขนส่งและแปรรูป สร้างคุณค่าและมูลค่าจากผลผลิต และส่งเสริมความรู้อาหารพื้นบ้านร่วมกับคลินิกหมอครอบครัวทั้งการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อการบริโภค, รับประทานอาหารให้เป็นยาตามวิถีธรรมชาติที่เหมาะสม, ส่งเสริมการออกกำลังกาย ในการลดเสี่ยง ลดโรค, พัฒนาคุณภาพการผลิตอาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการส่งออก, ส่งเสริมให้สถานประกอบการ ร้านอาหาร และแผงลอย รวมถึงพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐาน Clean Food Good Taste และมีเมนูชูสุขภาพประจำร้าน เป็นต้น


สำหรับในช่วงบ่ายวันนี้ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) หลังจากที่ ศบค. มีการปรับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร โดยภาพรวมการประเมินร้านอาหารในระบบ Thai Stop COVID Plus ของจังหวัดน่าน ตั้งแต่วันที่ 4 - 23 มิถุนายน 2565 จำนวน 215 แห่ง มีร้านอาหารผ่านการประเมิน 212 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 99 และไม่ผ่านการประเมิน 3 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 1