กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา เอไอเอส ผนึกความร่วมมือทางวิชาการด้านข้อมูลอุตุนิยมวิทยากับโรคและภัยสุขภาพ ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อจากแมลง ผ่านแอปพลิเคชั่นอสม.ออนไลน์ พร้อมพัฒนาฟีเจอร์ให้ขยายการสำรวจได้มากกว่าเดิม เพื่อลดการเกิดโรคติดต่อนำโดยแมลงในประเทศไทย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยากับโรคและภัยสุขภาพในประเทศไทย ระหว่างกรมควบคุมโรค และกรมอุตุนิยมวิทยา และการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการบูรณาการข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่างกรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด โดยมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ร่วมลงนาม
นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับปัญหาโรคติดต่อนำโดยแมลงที่เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่แปรผันตามฤดูกาล (Seasonal Variation) โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนของทุกปี จากลักษณะภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค ทำให้พบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงเกินมาตรฐานเอื้อต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก ขณะเดียวกันข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในปี 2564 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (Dengue fever) 7,284 ราย พบมากสุดในเดือนมิถุนายน 1,172 ราย, พฤษภาคม 808 ราย, กรกฎาคม 763 ราย ตามลำดับ สำหรับในปี 2565 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 มิถุนายน 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 3,915 ราย การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยาและการควบคุมโรค การพัฒนาบุคลากรทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต รวมถึงเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง โดยเฉพาะยุงลายให้ลดและหมดไป ด้วยการตรวจจับการระบาดที่รวดเร็ว แจ้งเตือนโรคล่วงหน้า สามารถตอบโต้การระบาดได้ทันเวลา และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำคัญที่สุดคือ ลดอัตราการเกิดโรคติดต่อนำโดยแมลงในประเทศไทย