เตือน! “เอ็นข้อเข่าฉีก” เรื่องไม่เล็ก เสี่ยงข้อเข่าเสื่อมก่อนวัย

บ่อยครั้งที่ได้เห็นภาพของนักฟุตบอลปะทะกันล้มลงบนสนาม เบาหน่อยอาจแค่พ่นยาแล้วลุกขึ้นชิงชัยอีกครั้ง แต่บางคนถึงกับต้องหามออกจากการแข่งขันเพราะเอ็นข้อเข่าฉีกขาด


นพ.ปรัชญ์ กำลังสินเสริม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ เวชศาสตร์การกีฬา และการส่องกล้องของข้อต่อหัวเข่า ไหล่ รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวว่า “เอ็นไขว้หน้าข้อเข่า” (Anterior Cruciate Ligament หรือ ACL) ฉีกขาดเป็นอาการที่สร้างความเจ็บปวดและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่ากับคนที่รักการออกกำลังกาย หรือนักกีฬาอาชีพ และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับการเล่นกีฬาทุกประเภท โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องปะทะ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เป็นต้น

อาการของเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดเป็นอย่างไร?


“เอ็นไขว้หน้าข้อเข่า” เป็นหนึ่งในเอ็นหลักของเข่า อยู่ลึกเข้าไปในบริเวณส่วนกลางของข้อเข่า ช่วยรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว มีหน้าที่ป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่า เมื่อเอ็นไขว้หน้าขาดจะได้ยินเสียงลั่นในข้อ  มีอาการเข่าบวมภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากมีเลือดออกในข้อ ควรรีบพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                          


บางรายเมื่อปล่อยไว้อาการปวดและบวมอาจจะค่อยๆ หายไป แต่เมื่อกลับไปเล่นกีฬาหรือใช้งานอีก จะรู้สึกว่าข้อเข่าไม่มั่นคง โยกเยก เจ็บปวดข้อเข่ารุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่อได้ และเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองข้อฉีกขาด ส่งผลให้เกิดอาการงอเข่าไม่ลง ปวดบริเวณข้อตามมา


การรักษาเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดนั้นสามารถทำได้ทั้งโดยการผ่าตัดและไม่ผ่าตัดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ระดับกิจกรรมที่ผู้ป่วยต้องทำในแต่ละวัน และความรุนแรงของการฉีกขาด


แม้ว่าการรักษาเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดด้วยการผ่าตัดนั้น ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินที่ต้องเข้าผ่าตัดในทันทีผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้แต่เข่าจะสูญเสียความมั่นคงในการใช้งานโดยเฉพาะในกิจกรรมที่ต้องมีการบิดหมุนข้อเข่าทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บต่อหมอนรองเข่าฉีกขาดซึ่งจะนำไปสู่ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ ดังนั้นการรักษาหลังอาการบาดเจ็บจึงไม่ควรทิ้งระยะเวลานานเกินไป


ปัจจุบันในการผ่าตัดส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง ทำให้แผลผ่าตัดเล็กลง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่ายังช่วยประเมินส่วนอื่นภายในข้อเข่าด้วย เช่น หมอนรองกระดูกข้อเข่า กระดูกอ่อนผิวข้อ เป็นต้น ซึ่งสามารถทำการรักษาไปพร้อมกันได้ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยนอนพักในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันก็สามารถกลับบ้านได้ แต่ต้องมีการฝึกกายภาพบำบัดควบคู่กันไป และเรียนรู้การดูแลตัวเอง ให้สามารถงอและเหยียดข้อเข่าได้เต็มที่ กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง รวมทั้งการฝึกทักษะการเคลื่อนไหว เพื่อกลับไปใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการใช้ไม้ค้ำยันในการช่วยเดินเพียงในช่วงเดือนแรกๆ และใช้เวลาในการฟื้นฟูสภาพก่อนกลับไปเล่นกีฬาประมาณ 6 - 9 เดือน