บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการ “จากใจถึงไต ห่างไกลเบาหวาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นเผยแพร่และสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน อาทิ โรคหัวใจล้มเหลว โรคไตวายเรื้อรัง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค รวมถึงวิธีการดูแลตัวเองและคนรอบข้างผ่านกิจกรรมและการสื่อสารหลากหลายช่องทาง เมื่อเร็ว ๆ นี้
โครงการ “จากใจถึงไต ห่างไกลเบาหวาน” เป็นความร่วมมือระหว่าง เบอริงเกอร์ฯ และสมาคมโรคเบาหวานฯ เพื่อสนับสนุน ข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคแทรกซ้อนผ่านทางไลน์ @HealthyDM และเฟสบุ๊ค “จากใจถึงไต ห่างไกลเบาหวาน” รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยรวมทั้งผู้ดูแลได้มีส่วนร่วม เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาแบบองค์รวมของโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไต รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อน
ศ. เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานฯ ได้กล่าวว่า “โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ขณะนี้มีคนไทยเป็นโรคเบาหวานประมาณ 5.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 200,000 – 300,000 คนทุกปี สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยอันดับต้นๆ คือ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตวาย พบว่าโรคหัวใจและโรคไตมีความเกี่ยวเนื่องกัน ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคหัวใจอาจส่งผลกระทบให้การทำงานของไตลดลง โรคไตมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นและเป็นเหตุให้เสียชีวิตด้วย”
โรดิโก้ เลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเบอริงเกอร์ฯ ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไปในประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งนับได้ว่าเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้นการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และอัพเดทความรู้ใหม่ๆ อาทิเช่น เรื่องอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือโรคไต จึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะทำให้คนไทยมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานและอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนลดลง ความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยยกระดับความรู้ในการดูแลรักษาโรคเบาหวานเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเบาหวานให้ดียิ่งขึ้น”