แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมจัดบูธนิทรรศการแสดงผลงานและนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ ภายใต้แนวคิด “ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพคนไทยที่ยั่งยืน” ชูผลงานการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาดูแลสุขภาพของประชาชน (People) ชุมชน (Society) และโลก (Planet) อย่างยั่งยืน ภายในงาน “มหกรรม 80 ปี กรมการแพทย์” วันที่ 8-10 กรกฎาคม 2565 ณ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่แอสตร้าเซนเนก้าดำเนินงานในประเทศไทย เรามุ่งมั่นนำวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและปัญหาสุขภาพ การยกระดับประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น การส่งเสริมการเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ และการพัฒนายานวัตกรรมให้กับผู้ป่วย ผ่านความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงสามปีที่ผ่านมานั้น ทำให้เราเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการขยายขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนให้กับประชาชน (People) ชุมชน (Society) และโลก (Planet) ที่เราอาศัยอยู่มากยิ่งขึ้น”
ประชาชน (People)
แอสตร้าเซนเนก้าไม่เพียงแต่จะคิดค้นยาในการรักษาโรคภัย แต่บริษัทยังมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทย ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคผ่านช่องทางและแคมเปญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โครงการให้ความรู้และคำแนะนำด้านการป้องกันและรักษาปัญหาสุขภาพหัวใจให้แก่ประชาชน อย่าง โครงการ Hug Your Heart โครงการ คุยเรื่องไต ไขความจริง ให้ความรู้และไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคไตสำหรับประชาชน ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นเพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ นำร่องด้วยโครงการ “ตรวจไว สู้ภัยมะเร็งปอด” ที่นำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหาโรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น และ โครงการ SEARCH โครงการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไตเรื้อรัง (CKD) ในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูงด้วยการตรวจหาระดับอัลบูมินในปัสสาวะ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมคุณภาพการบริการ การป้องกันหรือชะลอการเสื่อมของไต และยืดระยะเวลาการบำบัดทดแทนไต อีกทั้ง แอสตร้าเซนเนก้ายังจัดตั้งโครงการสนับสนุนการเข้าถึงยา (Patient Affordability Programme) หรือ รู้จักกัน ในนาม AZ PAP (AstraZeneca Patient Affordability Programme) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มการเข้าถึงยานวัตกรรม หลายรายการ ให้กับผู้ป่วยในประเทศไทย เป็นต้น
ชุมชน (Society)
แอสตร้าเซนเนก้า เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนคือหัวใจสำคัญสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งยังเป็นประตูที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตแก่องค์กรในประเทศ รวมถึงยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้ชุมชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น อาทิ โครงการ Healthy Lung ที่มีดำเนินงานร่วมหลายๆพื้นที่ ของเขตการบริการสุขภาพ เพื่อสนับสนุนให้ บุคลากรการแพทย์ได้มีการเพิ่มพูนทักษะและองค์ความรู้ที่ทันสมัยในการดูแลรักษาโรคหืด อีกทั้ง โครงการฯ สนับสนุน และจัดหา เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ให้กับหน่วยบริการการแพทย์ที่ความต้องการอีกด้วย รวมถึงโครงการ Young Health Programme ที่ปลูกฝังองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพแก่เยาวชนอายุ 10-24 ปี ให้ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(NCDs) และปัญหาสุขภาพ โดยการสร้างแกนนำเยาวชนเพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้แก่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
โลก (Planet)
นอกจากการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนาเพื่อการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยแล้ว แอสตร้าเซนเนก้ายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้แอสตร้าเซนเนก้าได้จัดทำโครงการ AZ Forest โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในแต่ละพื้นที่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการปลูกและดูแลต้นไม้เป็นจำนวนกว่า 50 ล้านต้นทั่วโลกภายในปี 2025 พร้อมกันนี้ แอสตร้าเซนเนก้ายังให้คำมั่นด้วย Ambition Zero Carbon ซึ่งเป็นโครงการด้านความยั่งยืนหลักของบริษัทในการผลักดันบริษัทสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2025 แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทในการมุ่งดูแลสุขภาพของประชาชนควบคู่ไปกับการลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยภายในงาน “มหกรรม 80 ปี กรมการแพทย์” แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้จัดแสดงผลงานและนวัตกรรมด้านการแพทย์เพื่อการดูแลสุขภาพภายใต้แนวคิด “แอสตร้าเซนเนก้ากับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพคนไทยที่ยั่งยืน” โดยแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่
โซนจัดแสดง “แอสตร้าเซนเนก้ากับการดูแลสุขภาพคนไทยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19” พร้อมสาธิตขั้นตอนสำคัญในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ร่วมกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19
โซน “นวัตกรรมการแพทย์เพื่อชุมชน” นำเสนอไบโอเทคโนโลยีเพื่อยกระดับโซลูชันด้านการดูแลสุขภาพบนความร่วมมือกับพันธมิตร อย่าง Ever Medical Technologies นำโปรแกรมจำลองภาพเสมือนจริงของปอดในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างปอดปกติ และปอดที่เป็นมะเร็ง พร้อมนำเทคโนโลยีการจัดการข้อมูล เพื่อสนับสนุนการวิจัยทางด้านคลินิก (Ever clinical trial support) และ การระบุข้อมูลเชิงลึกของข้อมูลทางการแพทย์ ทางด้าน (Medical Data Annotation) เพื่อการพัฒนา AI for medical application มาจัดแสดง นอกจากนี้ แอสตร้าเซนเนก้ายังนำ Asthma Excellence Mobile Application แอปพลิเคชันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่แอสตร้าเซนเนก้าร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ให้การสนับสนุนสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการพัฒนาขึ้นเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโรคหืดเป็นเรื่องง่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดตามมาตรฐานสากล เป็นต้น
โซน “กิจกรรมเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และการดูแลสุขภาพ” นำเสนอผลงานจากโครงการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ โครงการเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่พบบ่อย อย่าง โครงการ We Care, Malengpod และ โครงการ Young Health Programme เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายในบูธของ แอสตร้าเซนเนก้า ยังมีกิจกรรมให้ผู้เข้าชมงานได้ร่วมสนุกตลอดทั้ง 3 วัน พบกับวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนจากแอสตร้าเซนเนก้าได้ในวันที่ 8-10 กรกฎาคม 2565 ที่บูธหมายเลข D3, G11 และ G12 ณ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์