สธ.ยังไม่สรุป BA.4/BA.5 รุนแรงขึ้น ประสาน รพ.ส่งตรวจมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอาการหนักหรือเสียชีวิต ย้ำยังต้องป้องกันตนเอง-ฉีดวัคซีน

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยสัดส่วนโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เพิ่มสูงขึ้น ส่วนความรุนแรงยังสรุปไม่ได้เช่นเดียวกับในต่างประเทศ แต่เบื้องต้นพบสัดส่วนในผู้ป่วยอาการหนักสูงกว่า BA.2 แต่ยังต้องเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ประสานโรงพยาบาลสังกัดต่าง ๆ ส่งตรวจมากขึ้น ย้ำมาตรการป้องกันโรค สวมหน้ากาก ล้างมือ เลี่ยงไปสถานที่เสี่ยง และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยลดความรุนแรงของโรคได้


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดร.นพ.อาชวินทร์โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า จากการเฝ้าระวังช่วงวันที่ 2-8 กรกฎาคม 2565 จำนวน 570 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.4/BA.5 รวมกันเกือบครึ่งหนึ่ง 280 ราย โดยยังพบสัดส่วนในผู้เดินทางจากต่างประเทศสูงทรงตัว 77-78% ราว 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ส่วนในประเทศไทย พื้นที่ กทม.พบ BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละสัปดาห์จาก 12% เป็น 50% 68% และ 72% ส่วนภูมิภาคค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 17% และ 34% ตามลำดับ ถือว่าแพร่เร็วและจะเริ่มแซง BA.2 กับ BA.1 แต่ไม่ได้แซงเร็วมาก ส่วนเรื่องความรุนแรงนั้น ยังสรุปไม่ได้ชัดเจน แต่ข้อมูลพบว่าเจอสัดส่วนของ BA.4/BA.5 ในผู้ป่วยอาการรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ทั้งใน กทม.และภูมิภาค แต่ตัวอย่างยังน้อยเกินไป ต้องมีข้อมูลในระดับหลักร้อยตัวอย่างถึงจะทำให้ข้อมูลแม่นยำมากขึ้น


“พื้นที่ กทม.เก็บตัวอย่างผู้ที่อาการไม่รุนแรง 164 ราย เป็น BA.4/BA.5 ประมาณ 72% ผู้ที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตมี 13 ราย เป็น BA.4/BA.5 ประมาณ 77% ขณะที่ภูมิภาคผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 309 ราย เจอ BA.4/BA.5 รวม 33% ผู้ที่อาการรุนแรง 45 ราย เจอ BA.4/BA.5 สัดส่วน 46% จึงมีข้อสังเกตเบื้องต้นว่า น่าจะมีความรุนแรงกว่า BA.2 แต่ข้อมูลยังไม่มากพอ เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ทั้งองค์การอนามัยโลกหรืออังกฤษก็ยังไม่สรุปเรื่องนี้ชัดเจน อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของญี่ปุ่น พบว่า BA.4/BA.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันและแพร่กระจายเร็วในเซลล์ปอดของมนุษย์มากกว่า BA.2 ผลการทดลองในหนู พบว่า BA.4/BA.5 ทำให้หนูทดลองป่วยหนักกว่า BA.2 ดังนั้น จึงได้ประสานให้โรงพยาบาลสังกัดต่าง ๆ ส่งตัวอย่างมาตรวจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาการหนักหรือเสียชีวิต รวมถึงข้อมูลของผู้ป่วยด้วย เช่น ประวัติการรับวัคซีน โรคประจำตัว รักษามานานเท่าไร เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล” นพ.ศุภกิจกล่าว


นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขอให้ประชาชนยังเน้นมาตรการส่วนบุคคล ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง ซึ่งหาก BA.4/BA.5 มีความรุนแรงจริง จะทำให้มีผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้นในอนาคตและอาจกระทบกับยาหรือเตียงได้ จึงต้องช่วยกันหยุดแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามคำแนะนำ จะช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต นอกจากนี้ สัปดาห์หน้าจะนำข้อมูลผลการศึกษาภูมิคุ้มกันจากวัคซีนสูตรต่าง ๆ ที่ทดลองกับ BA.5 ว่ามีประสิทธิผลเป็นอย่างไร