รพ.ภูมิพลฯ ผ่าตัดข้อเข่าเทียมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จุดเด่นทีมสหวิชาชีพ ‘ประเมิน แนะนำ ผ่าตัด ฟื้นฟู’

สปสช. เยี่ยมชมการจัดบริการโรคข้อเข่าเสื่อมและการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ชี้จุดเด่นให้บริการด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ ครอบคลุมตั้งแต่การประเมินคนไข้ก่อนการผ่าตัด ให้คำแนะนำเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ป่วย ผ่าตัดเสร็จแล้วยังมีกระบวนการฟื้นฟูทำให้คนไข้กลับบ้านได้เร็วขึ้น


พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร เดินทางไปที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชมการให้บริการโรคข้อเข่าเสื่อม การจัดอุปกรณ์และอวัยวะเทียม เพื่อใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแก่ผู้ป่วย ซึ่งบริการดังกล่าวเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง โดยมี พล.อ.ต.หญิง อิศรญา สุขเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และนาวาอากาศเอกธนา นรินทร์สรศักดิ์ ผู้อำนวยการกองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

พล.อ.ต.หญิง อิศรญา กล่าวถึงการจัดบริการโรคข้อเข่าเสื่อมของโรงพยาบาลภูมิพลฯว่า โรงพยาบาลไม่ได้แบ่งคนไข้ว่าเป็นสิทธิไหนแต่เน้นการประเมินทางคลินิกเป็นสำคัญ ถ้าเป็นผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมก็จะเข้ากระบวนการเดียวกัน โดยต้องมาประเมินความเสื่อมของข้อเข่าว่ามีอาการมากน้อยแค่ไหน ถ้าอาการรุนแรงเป็นปัญหาต่อการเดิน ก็จะเร่งกระบวนการผ่าตัดให้เร็วขึ้น แต่ถ้ายังพอรอได้ก็จะจัดการผ่าตัดตามคิวซึ่งจะใช้เวลารอประมาณ 3 เดือน


ทั้งนี้ ในกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยนั้น ไม่ได้มีแค่แพทย์ที่ทำการผ่าตัด แต่กระบวนการทั้งหมดจะร่วมทำงานกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ หลังผ่าตัดเสร็จแล้วจะมีวิสัญญีแพทย์คอยควบคุมความเจ็บปวดให้แก่คนไข้ด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ประมาณ 1-2 วัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด ทำให้สามารถกลับบ้านได้เร็ว 3-5 วัน รวมทั้งมีนักกายภาพบำบัดให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง กระบวนการทั้งหมดนี้เพื่อทำให้คนไข้กลับบ้านเร็วและโรงพยาบาลสามารถรับคนไข้รายใหม่ได้เร็วขึ้น


"การทำงานร่วมกับ สปสช. เป็นความร่วมมือระยะยาว สปสช. สนับสนุนเรื่องข้อเข่าเทียมต่างๆ โรงพยาบาลทำหน้าที่บริหารจัดการให้ผู้ป่วยได้สิ่งที่ดีที่สุด ถ้ามีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องใช้ข้อเข่าเทียมชนิดใดก็จะใช้แบบนั้น" พล.อ.ต.หญิง อิศรญา กล่าว


ด้าน พญ.ลลิตยา กล่าวว่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. ดำเนินการมานานพอสมควร มีการให้สิทธิแก่ประชาชนที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมและจำเป็นต้องเปลี่ยนข้อเข่า ให้สามารถเข้าถึงการเปลี่ยนข้อเข่าได้ ซึ่งโดยปกติจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ถ้ามีอาการก่อนอายุ 55 ปี จะต้องมีกระบวนการประเมิน หากประเมินแล้วแพทย์เห็นว่าจะเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนข้อเข่า ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้เช่นกัน


พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า แต่ละปี สปสช. เตรียมข้อเข่าเทียมประมาณ 1 แสนข้อ กระจายโควต้าไปตามเขตต่างๆ โดยพื้นที่ที่มีการผ่าตัดมากคือใน กทม. และปริมณฑล ส่วนที่โรงพยาบาลภูมิพลฯ ก็ได้ให้บริการตามสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. กำหนด และค่อนข้างครอบคลุมตั้งแต่การประเมินคนไข้ก่อนการผ่าตัด การให้คำแนะนำเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ป่วย และในการผ่าตัดก็มีทีมงานที่ไม่ได้มีเฉพาะหมอผ่าตัดข้อเข่า แต่มีทีมสนับสนุน เช่น วิสัญญีแพทย์ ทีมงานฟื้นฟู ฯลฯ เพื่อให้คนไข้เจ็บปวดน้อยที่สุดและฟื้นตัวได้เร็วที่สุดโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก ทำให้มั่นใจว่าไม่ว่าคนไข้จะใช้สิทธิการรักษาอะไรก็จะเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม


ทั้งนี้ จากการเยี่ยมชมการจัดบริการในครั้งนี้ สปสช.ได้รับโจทย์จากแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้วจะมีระยะเวลาใช้งานประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนอีก แต่ตัวข้อเข่าเทียมที่ใช้ผ่าครั้งแรกกับครั้งที่ 2 จะไม่เหมือนกัน ดังนั้น สปสช. จะรับประเด็นนี้ไปพิจารณากำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้โดยสะดวกและไม่เป็นภาระแก่โรงพยาบาล