ทีมตรวจประเมินหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50 (5) เขต 13 กทม. ลงพื้นที่เยี่ยมประเมินการดำเนินของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขตลาดกระบัง ชมพื้นที่นี้มีจุดเด่นเรื่องเครือข่ายและการประสานงานร่วมกันชัดเจน สามารถโน้มน้าวให้ผู้มีสิทธิใช้แอปฯทำการโอนย้ายสิทธิด้วยตัวเองได้ ด้านหน่วย 50 (5) เขตลาดกระบัง แนะ สปสช. สนับสนุนอุปกรณ์ไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงาน รวมทั้งจัดอบรมพัฒนาศักยภาพทีมงานหน่วย 50(5) อย่างต่อเนื่อง
ศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ประธานทีมตรวจประเมินหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนหรือหน่วย 50 (5) เขต 13 กทม. พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เขตลาดกระบัง เพื่อเยี่ยมประเมินหน่วย 50(5) 2 หน่วยคือ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน(เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เขตลาดกระบัง) และ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขตลาดกระบัง-ประเวศ
ศ.นพ.ต่อพล กล่าวว่า การเยี่ยมประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหน่วย 50(5) ว่ามีกระบวนการทำงาน สถานที่ บุคลากร เป็นอย่างไร มีการรับเรื่องร้องเรียนมากน้อยเท่าใดและบันทึกข้อมูลไว้หรือไม่ ซึ่งจากการรับฟังการบรรยายสรุปพบว่าศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน (เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เขตลาดกระบัง) มีจุดเด่นในเรื่องเครือข่าย มีการประสานการทำงานร่วมกันชัดเจน ขณะที่ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขตลาดกระบัง-ประเวศ มีจุดเด่นที่สามารถโน้มน้าวให้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพสามารถทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วยตัวเอง เช่น การย้ายสิทธิ โดยทีมงานของหน่วยฯ ช่วยแนะนำขั้นตอนวิธีการว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งสุดท้ายผู้มีสิทธิก็จะมีความรู้และนำไปปฏิบัติได้เองในอนาคต
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญคือทีมประเมินต้องการต้องการแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาของหน่วย 50(5) ในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งจากการลงพื้นที่วันนี้พบว่าเคสที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ส่วนมากจะเป็นเรื่องขั้นตอนเบื้องต้นเพื่อเข้าสู่บริการสุขภาพ เช่น จะโอนสิทธิย้ายสิทธิจากพื้นที่หนึ่งไปอีกพื้นที่หนึ่งได้อย่างไร ขั้นตอนการส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิไปโรงพยาบาลรับส่งต่อเป็นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งหน่วย 50 (5) ทั้ง 2 แห่งก็สามารถช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่ผู้มีสิทธิได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่หน่วย 50(5) ทั้ง 2 แห่งสามารถเพิ่มประสิทธิการทำงานได้อีก เช่น เรื่องอุปกรณ์ไอทีต่างๆ เพราะอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นของส่วนตัวที่ใช้งานมานานและอาจจะไม่รองรับเทคโนโลยีหรือระบบงานสมัยใหม่ เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ที่ทันสมัยก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพงานโดยรวมขึ้นมาอีกได้
"ในภาพรวมตอนนี้ทีมประเมินฯได้ไปเยี่ยมหน่วย 50(5) มาหลายพื้นที่ ได้เห็นมุมมองการทำงานของภาคประชาชน ประเด็นที่ประชาชนส่วนมากขอความช่วยเหลือเข้ามาจะเป็นเรื่องของขั้นตอนการเข้าถึงบริการ เช่น ขอย้ายสิทธิ โอนสิทธิ ฯลฯ ซึ่งหลังจากที่เยี่ยมประเมินครบทุกหน่วยแล้ว ทีมประเมินฯจะนำข้อมูลที่ได้ feedback กลับไปยัง สปสช. ว่าควรต้องปรับกระบวนการอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น การบันทึกข้อมูลผลงานของหน่วย 50(5) อาจต้องปรับรูปแบบให้ง่ายสำหรับผู้บันทึกข้อมูล เพราะจากที่รับฟังมา หลายพื้นที่มีปัญหาในการบันทึกข้อมูล บันทึกได้ไม่ครบถ้วน ทำให้นำไปประมวลผลได้ยาก ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นหลักที่เรานำไป feedback ให้ สปสช. รับทราบ"ศ.นพ.ต่อพล กล่าว
ด้าน นางกฤติยานันท์ กระแสร์ฉาย ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขตลาดกระบัง-ประเวศ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ทีมประเมินฯมาเยี่ยม และอยากฝากเสียงสะท้อนในเรื่องเรื่องอุปกรณ์ เพราะบางทีมีแต่ใจแต่อุปกรณ์ไม่พร้อม ทุกวันนี้ระบบไอทีต่างๆทันสมัยมากขึ้น แต่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่หน่วยมีเป็นรุ่นโบราณ ซื้อมาใช้เองเมื่อนานมาแล้ว ดังนั้นถ้า สปสช. สามารถสนับสนุนได้ก็อยากให้สนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ รวมทั้งเรื่องเอกสารใบปลิวแผ่นพับต่างๆที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ เพราะการประชาสัมพันธ์จะพูดปากเปล่าไม่ได้ สิ่งของเหล่านี้ยังจำเป็นและอยากได้รับการสนับสนุน นอกจากนี้ ยังอยากให้ สปสช. จัดอบรมหรือมีเวทีสื่อการกับหน่วย 50 (5) บ่อยๆ เพราะในระบบหลักประกันสุขภาพมีประเด็นใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่บางส่วนอาจอัพเดทไม่ทัน ดังนั้นจึงอยากให้มีช่องทางสื่อสารเพื่อเพิ่มเติมความรู้ให้กับแกนนำว่าในปัจจุบัน สปสช. เดินไปถึงจุดไหนบ้างแล้ว
ส่วนในเรื่องการทำงาน นางกฤติยานันท์ กล่าวว่า เคสส่วนมากที่เจอคือการขอรับคำปรึกษา ให้ช่วยตรวจสอบสิทธิว่ามีสิทธิการรักษาอะไร รับบริการได้ที่ไหน หรือ บางครั้งเวลาเกิดอุบัติเหตุก็ต้องช่วยตรวจสอบสิทธิกันหน้างานเพื่อให้ทีมกู้ชีพสามารถส่งตัวไปหน่วยบริการตามสิทธิได้ถูก เพราะแม้ในกรณีฉุกเฉินอันตรายถึงชีวิตสามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่อยู่แล้ว แต่บางครั้งหากไม่ฉุกเฉินมาก การส่งตัวไปโรงพยาบาลตามสิทธิจะดีกว่า ส่วนเคสร้องเรียนต่างๆไม่ค่อยมี เพราะส่วนมากเราจะทำหน้าที่เป็นคนกลางคอบอธิบายหรือทำความเข้าใจเวลาผู้ป่วยรู้สึกหงุดหงิดเมื่อไม่ได้รับบริการรวดเร็วทันใจ เมื่อผู้ป่วยสบายใจก็ช่วยลดปัญหาการร้องเรียนลงไปได้มาก
ด้านนางสุจิน รุ่งสว่าง ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน(เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เขตลาดกระบัง) กล่าวว่า มีข้อเสนอถึง สปสช. ในการพัฒนาปรับปรุงระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยให้เชื่อมร้อยระหว่างหน่วยบริการ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องถือแฟ้มประวัติการรักษาติดตัวไป รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณดำเนินการให้หน่วย 50(5) ในการจัดหาสถานที่ อุปกรณ์ทำงาน และการบริหารจัดการหน่วยฯ และการพัฒนาศักยภาพทีมงานหน่วย50(5) อย่างต่อเนื่อง