กรมการแพทย์แผนไทยฯ เผยล่าสุดมีประชาชนใช้ยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย กว่า 2 แสนราย


กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยปัจจุบันมีประชาชนใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์และยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ จำนวน 238,865 ราย พร้อมเร่งศึกษาวิจัยตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทยอีก 49 เรื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ปัจจุบัน มีตำรับยาแผนไทยที่เข้าถึงกัญชา ที่ประชาชนสามารถนำมาใช้รักษาสุขภาพ จำนวน 19 ตำรับ และ มีการผลักดันยากัญชาแผนไทย 5 รายการ คือ ยาแก้ลมแก้เส้น ยาศุขไสยาศน์ ยาทำลายพระสุเมรุ น้ำมันกัญชา(หมอเดชา) และน้ำมันกัญชาทั้ง 5 สู่ชุดสิทธิประโยชน์และบัญชียาหลักแห่งชาติ และที่ดำเนินการ อย่างต่อเนื่องคือการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านเครือข่ายสุขภาพในระดับชุมชน ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ในหน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับและเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ล่าสุดในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ใช้น้ำมันกัญชา ทางการแพทย์และยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม จำนวน 238,865 ราย ซึ่งตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาที่มีกัญชาปรุงผสมในตำรับยาทางการแพทย์แผนไทย ที่อยู่ระหว่างการวิจัย โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กับภาคีเครือข่ายที่ร่วมวิจัย จำนวน 49 เรื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ
สำหรับ การควบคุมการใช้กัญชาในช่วงระยะก่อนกฎหมายกัญชา กัญชง ประกาศใช้ โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 มิถุนายน 2565 กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรา 46 การวิจัย การส่งออก การแปรรูปเพื่อการค้าทำไม่ได้ทันที ตามมาตรา 78 ผู้ใดกระทำผิด มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการดำเนินการตอนนี้จะดำเนินการตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอให้ผู้ที่ดำเนินการใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย กรุณาเลิกทำความผิด เพราะจะทำให้คนที่มีความตั้งใจในการใช้กัญชาในทางการแพทย์ เช่น ผู้ปลูก ผู้วิจัย รวมถึงประชาชนที่มีความประสงค์ใช้ประโยชน์กัญชา ทางการแพทย์ และการแพทย์แผนไทย ต้องเสียโอกาส ถูกขีดวงจำกัด และเกิดการชะงักงัน
นายแพทย์ยงยศ กล่าวในตอนท้ายว่า กัญชา เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้ แต่จะต้องดำเนินควบคู่กันไปพร้อมกับการควบคุมเพื่อการคุ้มครองบุคคล และสังคม เพื่อไม่ให้ได้รับอันตราย ที่อาจเกิดจากการบริโภค และการป้องกันการใช้ในทางที่ผิดและไม่ต้องการที่จับกัญชามาขังกรงอีกต่อไป