สปสช.เพิ่ม 10 รายการยาจำเป็นตามบัญชี จ.(2) สิทธิประโยชน์ใหม่รักษาผู้ป่วยบัตรทอง

บอร์ด สปสช. เห็นชอบสิทธิประโยชน์ “10 รายการ ยาจำเป็นแต่มีราคาแพงตามบัญชี จ.(2)” เพิ่มการเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมเพื่อ “ผู้ป่วยบัตรทอง” ดำเนินการได้ทันทีในปี 2565 เหตุไม่เป็นภาระงบประมาณ


รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงนั้น การดำเนินการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นเป็นหนึ่งในกลไกหลักสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มยาจำเป็นราคาแพงที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาผู้ป่วย ที่ผ่านมาภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง มีการพัฒนาและขยายสิทธิประโยชน์ด้านยาอย่างต่อเนื่อง ตามรายการกลุ่มยาบัญชี จ.(2) ที่ผ่านการพิจารณาประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความปลอดภัย และความคุ้มค่าในการรักษา


ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเพิ่มยาบัญชี จ.(2) จำนวน 10 รายการ ให้ครอบคลุมการดูแลรักษาผู้ป่วยเพิ่มเติม


สำหรับที่มาของข้อเสนอการเพิ่มสิทธิประโยชน์บัญชียา จ.(2) นี้ รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า เป็นผลสืบเนื่องจากคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ มีหนังสือที่ สธ.1015/ว 304 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาเพิ่มเติมยาบัญชี จ.(2) จำนวน 10 รายการ โดยเบื้องต้น บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบตามที่เสนอ ซึ่งยาบัญชี จ.(2) 5 รายการแรก เป็นยาที่ใช้แทนยาเดิมกรณีดื้อยาหรือเพิ่มข้อบ่งใช้ หรือปรับเงื่อนไขการสั่งใช้ยา จากการพิจารณานอกจากไม่มีภาระงบประมาณแล้วยังประหยัดงบประมาณจากการเปลี่ยนใช้ยาเป็นจำนวนถึง 59.64 ล้านบาท ได้แก่


1. ยาโพซาโคนาโซล (Posaconazole) ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อรามิวโคไมโคสิส (Mucormycosis) ที่ไม่ตอบสนองต่อยา


2. ยาไลนิโซลิด (Linezolid) ใช้รักษาการติดเชื้อเอนเทรโรคอดไคที่ดื้อยาแวนโคไมซิน


3. ยาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) + ยาเวลป้าทาสเวียร์ (Velpatasvir) และ ยาไรบาวิริน (Ribavirin) รักษาตับอักเสบซี


4. ยาออกทรีโอไทด์ แอซีเทต (octreotide acetate) รูปแบบ sterile powder ชนิดออกฤทธิ์นาน ใช้ในผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมองกระตุ้นไทรอยด์ (thyrotropin secreting pituitary adenoma)


5. ยาเบวาซิซูแมบ (Bevacizumab inj.) รักษาโรคจอตาผิดปกติในเด็กเกิดก่อนกำหนด


รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า ส่วนยาบัญชี จ.(2) อีก 5 รายการนั้น แม้ว่าจะมีผลต่อการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่สามารถใช้งบที่ประหยัดได้จากการใช้ยาบัญชี จ.(2) ตาม 5 รายการใหม่ข้างต้นได้ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 37.23 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมบอร์ด สปสช. จึงมีมติเห็นชอบในคราวเดียวกัน ได้แก่


1. ยาโวริโคนาโซล (Voriconazole) รักษา invasive fungal infection จากเชื้อ Trichosporon spp


2. ยาริทูซิแมบ (Rituximab inj.) กลุ่มโรคนิวโรมัยอิลัยติสออพติกา (neuromyelitis optica spectrum disorder  : NMOSD) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีข้อห้ามใช้ยา ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone)+เอซาไธโอพรีน (azathioprine)


3. ยาเม็ดนิติซิโนน (Nitisinone) รักษาโรคไทโรซีนีเมียชนิดที่ 1 ให้เฉพาะการรักษาก่อนปลูกถ่ายตับ


4. ยาซิสทีมีน ไบทาร์เทรต (Cysteamine bitartrate) สำหรับผู้ป่วย Nephropathic Cystinosis


5. ยาซัพโพรเทอริน (Sapropterin) (BH4) รูปแบบ oral form สำหรับวินิจฉัยแยกโรคและรักษาโรคภาวะกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีนสูงจากภาวะพร่องเตตราไฮโดรไบโอเทอริน (BH4) และโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria : PKU)


“จากกลไกพัฒนาระบบยานี้ ตลอดระยะเวลา 19 ปี ได้ทำให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้าถึงยากลุ่มเข้าถึงยาก เนื่องจากมีราคาแพงได้ เป็นการเพิ่มโอกาสการรักษาให้กับผู้ป่วย ซึ่ง 10 รายการยาใหม่ที่ บอร์ด สปสช. ได้เพิ่มเติมตามบัญชียา จ.(2) จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว


อนึ่ง ยาบัญชี จ.(2) หมายถึง รายการยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ โดยมีลักษณะ ดังนี้ 1.มีความเหมาะสมที่จะใช้เพียงบางข้อบ่งใช้ 2.มีแนวโน้มจะสั่งใช้ยาไม่ถูกต้อง 3.ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเฉพาะโรค หรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 4.ยาที่มีราคาแพงมาก 5.ส่งผลอย่างมากต่อความสามารถในการจ่ายทั้งจากสังคมและผู้ป่วย