ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี จับมือภาครัฐและเอกชน เปิดโครงการภารกิจพิชิตโรคตับ และ ‘EZ Liver Clinic’ เชิญชวนชาวจันทบุรี ที่อายุ 30 ปี ขึ้นไป เจาะเลือดคัดกรองไวรัสตับอักเสบ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี จัดงานแถลงข่าว “ภารกิจพิชิตโรคตับ” เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคตับ ทั้งด้านอุบัติการณ์ ความเสี่ยง การป้องกัน การคัดกรอง และการรักษา อีกทั้งเพื่อเปิดตัวโครงการนำร่อง EZ Liver Clinic (อีซี่ ลิเวอร์ คลินิก) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี โดยโครงการนี้เป็นเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจพิชิตโรคตับที่ช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคตับ และเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองและการรักษาได้อย่างทันท่วงที


 


โครงการ EZ Liver Clinic มีที่มาจากการระดมความคิดของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชนไทย ภายใต้ชื่อ โครงการ LEAP (Liver Ecosystem Advancement Program) ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชา ได้แก่ แพทย์ทางเดินอาหารและตับ แพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์ศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี แพทย์รังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา รวมถึง โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) และ โรช ไทยแลนด์ โดยทุกฝ่ายต่างก็มีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันเพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมและโอกาสในการหายขาดจากโรคที่สูงขึ้น


 


ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นของ LEAP ยังสอดคล้องกับสหพันธ์ตับอักเสบโลก (World Hepatitis Alliance) ที่ออกมารณรงค์เนื่องในวันตับอักเสบโลก (World Hepatitis day) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี ด้วยแนวคิดที่ว่า “Hepatitis Can’t Wait”[1]  เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ทั่วทุกมุมโลก รวมถึงในประเทศไทย ไม่นิ่งนอนใจหรือรอจนอาการของโรคลุกลามไปสู่ตับแข็งและมะเร็งตับ เพราะหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ย่อมเพิ่มโอกาสที่จะหายขาดและมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้


 


มีการประมาณการว่าประชากรไทยมากถึง 2.2 ล้านคน เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี ส่วนอีก 3-8 แสนคน เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบซี[2]  ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัสทางเลือด การมีเพศสัมพันธ์ และจากมารดาสู่บุตร เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบเข้าสู่ร่างกายระยะหนึ่ง ร่างกายจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อ และทำให้เกิดการอักเสบของตับ ดังนั้น การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาผิวของไวรัสและระดับภูมิคุ้มกัน จึงช่วยให้แพทย์สามารถประเมินระยะของโรคที่อาจมีข้อบ่งชี้ในการเริ่มจ่ายยาต้านไวรัสตับอักเสบชนิดรับประทาน ซึ่งสามารถเบิกจ่ายได้ทุกสิทธิการรักษา นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีพังผืดในตับหรือเกิดภาวะตับแข็งร่วมด้วย จึงควรได้รับการตรวจด้วยวิธีอัลตร้าซาวน์ ควบคู่ไปกับการตรวจเลือดเพื่อดูค่าบ่งชี้มะเร็งตับทุก 6 เดือน


 


ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองและการเข้าถึงการรักษาตั้งแต่ระยะต้น โครงการนำร่อง EZ Liver Clinic ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี จึงเชิญชวนประชาชนที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ในจังหวัดจันทบุรีเพิ่มเพื่อนใน Line Official Account @ppkezliverclinic เพื่อลงทะเบียนเข้ารับการเจาะเลือด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


 


ชาวจันทบุรีที่อาศัยในอำเภอเมือง สามารถเข้ารับการเจาะเลือดได้ที่ อาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง ชั้น 2 โรงพยาบาลพระปกเกล้า ทุกวันศุกร์ เวลา 8.30 - 16.00 น. ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2565 (เป้าหมาย 2,000 ราย)  ชาวจันทบุรีที่อาศัยในอำเภออื่นๆ เจาะเลือด ได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) หรือ โรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป จนกว่าชุดทดสอบหมด (เป้าหมาย 10,000 ราย)


 


ศ.นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย (Thai Association for the Study of the Liver: THASL) กล่าวว่า “สาเหตุการเกิดมะเร็งเซลล์ตับในคนไทยส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ดังนั้น ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดตั้งโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน การคัดกรอง การวินิจฉัย ตลอดจนการดูแลรักษา ให้ครอบคลุมประชากรอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงถือเป็นวาระสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทย”


 


 


นพ.ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า “ที่ผ่านมา เราได้ตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ในจังหวัดจันทบุรีปีละประมาณ 100 คน และกว่า 75% พบในระยะลุกลาม ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น ถ้าประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี มาเจาะเลือดแล้วพบว่าติดเชื้อ ก็สามารถเริ่มเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ตั้งแต่สาเหตุของการเกิดมะเร็งตับ หรือถ้าหากพบว่าเป็นมะเร็งตับ การรักษาตั้งแต่ระยะแรกช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ โครงการ EZ Liver Clinic มีเป้าหมายที่จะทำให้ขั้นตอนตรวจวินิจฉัยโรคตับอักเสบบีเรื้อรัง โรคตับแข็ง ลดระยะเวลาลงจาก 4 เดือน เหลือ 4 สัปดาห์ และโรคมะเร็งตับ ให้ลดระยะเวลาลงจาก 6 เดือน เหลือเพียง 6 สัปดาห์ เพราะหากรู้เร็ว รักษาไว ย่อมมีโอกาสหายขาดได้”


 


ทั้งนี้ นพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์​ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ร่วมกันทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น “นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มมีนโยบายฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบให้แก่ประชาชน ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อน้อยลงมาก อย่างไรก็ดี กลุ่มที่น่ากังวลคือประชาชนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบแฝงอยู่ในกระแสเลือดเพราะเป็นช่วงที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในเด็กแรกเกิดทุกคน เฉพาะในจังหวัดจันทบุรี มีประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไปที่อาจจะยังไม่เคยได้รับวัคซีน 344,038 คน และคาดว่ามีโอกาสที่จะตรวจพบผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 15 หรือคิดเป็น 51,605 คน ดังนั้น ในระยะที่ 1 โครงการ EZ Liver Clinic ได้รับการสนับสนุนชุดตรวจ จำนวน 12,000 ชุด (จากศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคตับอักเสบและมะเร็งตับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10,000 ชุด และจาก โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) 2,000 ชุด) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้ค้นพบผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบราว 1,800 คน เพื่อให้ผู้ป่วยโอกาสเข้าสู่เส้นทางการรักษาดังนั้นจึงอยากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ที่อายุ 30 ปีขึ้นไป เข้ารับการเจาะเลือดตรวจคัดกรอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ใกล้บ้าน โดยเพิ่มเพื่อนใน Line Official Account @ppkezliverclinic เพื่อประเมินความเสี่ยง และค้นหาสถานที่ที่สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้”


 


โครงการนำร่อง EZ Liver Clinic ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคเอกชน บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยง และเฝ้าระวังโรคมะเร็งตับ ตามเป้าหมายของ LEAP ที่พยายามเพิ่มอัตราการหายขาด และโอกาสรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วย 


 


นายพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โรช มีความยินดีอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ เพื่อเริ่มดำเนินโครงการในการคัดกรองหากลุ่มเสี่ยง โรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งตับ รวมถึง การตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยมะเร็งตับในกลุ่มเสี่ยงสูงด้วย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการตรวจวินิจฉัยกับผู้ป่วยโรคตับเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัย และนวัตกรรมแห่งการตรวจได้รวดเร็วมากเท่าไร นั่นหมายถึง ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอีกด้วย”


 


“โรช มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการ LEAP เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับเส้นทางการดูแลผู้ป่วยโรคตับและมะเร็งตับในประเทศไทย สำหรับโครงการ EZ Liver Clinic นี้ เรามีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยซึ่งยังอาจขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรค ได้มีโอกาสเข้ารับการตรวจคัดกรองและการรักษาอย่างทันท่วงที โรช หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอุบัติการณ์ของโรคตับในประเทศไทยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมีอัตราการรอดชีวิตที่ยาวนานขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม” มร.ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวปิดท้าย


 


 


ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี จัดงานแถลงข่าว “ภารกิจพิชิตโรคตับ” เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคตับ ทั้งด้านอุบัติการณ์ ความเสี่ยง การป้องกัน การคัดกรอง และการรักษา อีกทั้งเพื่อเปิดตัวโครงการนำร่อง EZ Liver Clinic (อีซี่ ลิเวอร์ คลินิก) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี โดยโครงการนี้เป็นเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจพิชิตโรคตับที่ช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคตับ และเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองและการรักษาได้อย่างทันท่วงที


 


โครงการ EZ Liver Clinic มีที่มาจากการระดมความคิดของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชนไทย ภายใต้ชื่อ โครงการ LEAP (Liver Ecosystem Advancement Program) ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชา ได้แก่ แพทย์ทางเดินอาหารและตับ แพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์ศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี แพทย์รังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา รวมถึง โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) และ โรช ไทยแลนด์ โดยทุกฝ่ายต่างก็มีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันเพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมและโอกาสในการหายขาดจากโรคที่สูงขึ้น


 


ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นของ LEAP ยังสอดคล้องกับสหพันธ์ตับอักเสบโลก (World Hepatitis Alliance) ที่ออกมารณรงค์เนื่องในวันตับอักเสบโลก (World Hepatitis day) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี ด้วยแนวคิดที่ว่า “Hepatitis Can’t Wait”[1]  เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ทั่วทุกมุมโลก รวมถึงในประเทศไทย ไม่นิ่งนอนใจหรือรอจนอาการของโรคลุกลามไปสู่ตับแข็งและมะเร็งตับ เพราะหากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ย่อมเพิ่มโอกาสที่จะหายขาดและมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้


 


มีการประมาณการว่าประชากรไทยมากถึง 2.2 ล้านคน เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี ส่วนอีก 3-8 แสนคน เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบซี[2]  ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัสทางเลือด การมีเพศสัมพันธ์ และจากมารดาสู่บุตร เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบเข้าสู่ร่างกายระยะหนึ่ง ร่างกายจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อ และทำให้เกิดการอักเสบของตับ ดังนั้น การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาผิวของไวรัสและระดับภูมิคุ้มกัน จึงช่วยให้แพทย์สามารถประเมินระยะของโรคที่อาจมีข้อบ่งชี้ในการเริ่มจ่ายยาต้านไวรัสตับอักเสบชนิดรับประทาน ซึ่งสามารถเบิกจ่ายได้ทุกสิทธิการรักษา นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีพังผืดในตับหรือเกิดภาวะตับแข็งร่วมด้วย จึงควรได้รับการตรวจด้วยวิธีอัลตร้าซาวน์ ควบคู่ไปกับการตรวจเลือดเพื่อดูค่าบ่งชี้มะเร็งตับทุก 6 เดือน