สธ.เผยการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขก้าวหน้าต่อเนื่อง เดินหน้าพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ กทม. เพิ่มการเข้าถึงบริการ


รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวความร่วมมือการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เผยมีความก้าวหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง “โควิด”ไทยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสพัฒนาด้านสาธารณสุขจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก จากพื้นฐานความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ พร้อมเดินหน้าขยายผลการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเขตเมือง กทม. เพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมาย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวความร่วมมือการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 ร่วมกับ ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ


นพ.โอภาสกล่าวว่า การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ประเทศไทยได้พลิกวิกฤตและความท้าทายเป็นโอกาสในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่มีการสร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนและพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทั่วโลกได้ชื่นชมการบริหารสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินในการรับมือโควิดของไทยว่า เกิดจากความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน อสม. ภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหาโควิด 19 ภายใต้การนำของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ แสดงถึงความสำคัญของการจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพกับหมอครอบครัวได้สะดวกและรวดเร็ว สามารถหยุดความรุนแรงของโรคและลดภาวะแทรกซ้อนได้ ส่งผลให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจตามมา


นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเขตชนบทมักเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข แต่ปัญหาขณะนี้เปลี่ยนไปเนื่องจากพื้นที่ชนบทมีระบบ อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชน ทำงานเชื่อมโยงกัน ต่างจากชุมชนเมือง เช่น ในกรุงเทพมหานคร ที่ต้องพัฒนารูปแบบใหม่ของบริการสุขภาพปฐมภูมิให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ซึ่งมีข้อเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ เช่น การพัฒนากลุ่มอาสาสมัครในกรุงเทพมหานคร, การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพมาช่วยเพิ่มศักยภาพการบริการให้กับประชาชน การนำนวัตกรรม เช่น ระบบ Telemedicine แอปพลิเคชัน Smart อสม.ฯลฯ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนตามที่กรุงเทพมหานครร้องขอ


“การปฏิรูปต้องเน้นเรื่อง Digital Health หากมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่รวดเร็วจะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพของตนเองอย่างแท้จริง รวมถึงต้องสร้างความมั่นคงยา วัคซีน และอื่นๆ โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้นำประเด็นเหล่านี้มาหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการขับเคลื่อนไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เนื่องจากเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สามารถดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ระบบยั่งยืนและชัดเจนมากขึ้นได้ นอกจากนี้ เรายังมีนโยบาย 3 หมอ ที่ยกระดับ อสม.เป็นหมอคนแรกของประชาชน ขณะที่ กทม.มีระบบ อสส. ซึ่งถ้าใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มร่วมกัน อสม.และ อสส.ทั้งประเทศจะเกิดความเชื่อมโยงอย่างแท้จริง โดยทั้งหมดจะเดินหน้าภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง Health for Wealth คือ เศรษฐกิจจะดี สุขภาพต้องดีก่อน” นพ.โอภาสกล่าว