จากปัญหาทางสังคมของผู้ป่วยในชุมชนที่มากขึ้น ต้องได้รับการดูแลด้านร่างกายและจิตใจอย่างใกล้ชิด การเข้าถึงระบบการรักษาระหว่างหมอกับประชาชนนั้นเป็นไปได้ยาก ยิ่งในถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกลจากตัวเมืองด้วยนั้น หากเกิดการเจ็บป่วยของผู้คนอาจจะใช้เวลาในการเดินทางมารักษานาน ส่งผลให้บางรายที่ป่วยหนัก ๆ ทนไม่ไหว และเสียชีวิตระหว่างทางได้
เนื่องจากเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยหลัก ทำให้ประชาชนบางกลุ่มเลี่ยงที่จะรักษาโรคที่ตนเป็นอยู่ให้ต่อเนื่อง เพียงเพราะค่าใช้จ่ายที่แพงเกินกว่ารายได้ที่ได้รับ และเลือกที่จะรักษากันเองตามความเชื่อ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทาง สสส. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงเกิดโครงการพัฒนาส่งเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของสหวิชาชีพขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักสังคมสงเคราะห์ให้มีความรู้ สามารถพัฒนากลไกเครือข่ายดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ในแพลตฟอร์ม Social Telecare และได้ขยายผลไปสู่พื้นที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ เพื่อบริการประชาชนอย่างครอบคลุม และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางนานาชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ได้ให้ข้อมูลว่า นักสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนที่ประสบปัญหาสังคมใช้ศักยภาพและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เสริมพลังครอบครัว และชุมชนได้เป็นอย่างดี สำหรับโครงการนี้เป็นความร่วมมือของเครือข่ายดำเนินการร่วมกันในยุคที่ต้องใช้ดิจิทัลทำงานกับมนุษย์ เชื่อมั่นว่านักสังคมสงเคราะห์จะสามารถพัฒนาสมรรถนะตนเองได้เป็นอย่างดี
กลุ่มเปราะบาง คือกลุ่มที่มีปัญหาด้านสุขภาพ หรือมีปัญหาในการเข้าถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถแบ่งกลุ่มคนเปราะบางได้ ดังนี้
1) กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าบุคคลทั่วไป เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และพระสงฆ์
2)กลุ่มทุพพลภาพ เช่น ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสมองเสื่อม ผู้ป่วยติดเตียง
3) กลุ่มที่ไม่มีอิสระพอในการตัดสินใจ เช่น เด็กและเยาวชน นักโทษ ทหารเกณฑ์
4) กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และคนขอทาน
ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม หัวหน้าโครงการฯ ให้ข้อมูลว่า แพลตฟอร์ม Social Telecare มีความเชื่อมโยงกับทีมหมออนามัย ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับทางสาธารณสุข และต่อยอดเป็นข้อเสนอนโยบายทางสังคมในการดูแลกลุ่มเปราะบาง เชื่อมประสานกับระบบหลักประกันสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ให้บริการทางสังคม จะทำให้ลดข้อจำกัดของระบบบริการผ่านทางไกล ขณะนี้ได้มีการอบรมพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และทีมสุขภาพ อาทิ แพทย์ นักวิชาการ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) 2,077 คน ใน 6 หลักสูตร โดยคาดหวังให้นักสังคมสงเคราะห์เข้าใจในเรื่องของการประเมินผู้ป่วยในระบบของ Social Telecare รวมไปถึงจัดทำแผนการดูแลด้านสุขภาวะของผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน ซึ่งจะทำให้ประหยัดทั้งเวลาและทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย
“สำหรับแพลตฟอร์ม Social Telecare มี 23 เครื่องมือการทำงาน โดยแบ่งเป็น 13 แพลตฟอร์มในพื้นที่เขตสุขภาพ 13 เขตทั่วประเทศ และเป็นระบบประเมินผู้ป่วยที่สามารถรายงานผลได้ แบบ Real time มีฟังก์ชันระบบรายงานผล ส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยไปยังสหวิชาชีพ เพื่อให้บริการอย่างครอบคลุม นอกจากใช้ติดต่อภายในเครือข่ายปฐมภูมิแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อข้อเสนอเชิงนโยบาย และแก้ปัญหาเชิงระบบต่อไปในอนาคต” ศาสตราจารย์ระพีพรรณ กล่าว
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการพัฒนาส่งเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของสหวิชาชีพ เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ
1) ได้ Platform Social Telecare (การดูแลทางสังคมกับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางในระบบปฐมภูมิ)
2) เพิ่มสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และทีมสุขภาพ เพื่อดูแลทางสังคมผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางและระบบสุขภาพปฐมภูมิตามระบบสุขภาพชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
3) Social Telecare Sandbox ถูกนำใช้พื้นที่ขยายผลใน 13 จังหวัดของกระทรวงสาธารณสุข
4) ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางและครอบครัวมีความมั่นใจในการดูแลตนเองและครอบครัวทั้งด้านสุขภาพและสังคม
การทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์ในระบบบริการสุขภาพ และท้องถิ่นเพื่อเชื่อมโยงบริการสุขระดับปฐมภูมิ เพื่อพัฒนาสังคมหรือกลุ่มคนที่มีปัญหาซับซ้อน โดยการสำรวจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ บทบาทและสมรรถนะของทีมหมอ ครอบครัว สหวิชาชีพ และทีมสุขภาพในการดูแลทางสังคมให้มีประสิทธิภาพ
สสส. และภาคีเครือข่าย มุ่งสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาสุขภาพได้รับการดูแลแบบองค์รวม ครบถ้วนต่อเนื่อง ลดความเสี่ยง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น