สปสช.หนุนขยายศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการครอบคลุมทั่วประเทศ

สปสช.จัดเวทีแลกเปลี่ยนการจัดบริการของหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านและการส่งเสริมองค์กรด้านคนพิการ หวังอยากเห็นการขยายศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หนุนเสริมศักยภาพคนพิการให้สามารถออกมาใช้ชีวิตในสังคมได้


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ มูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย และ เครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ จัดเวทีประชาสัมพันธ์รูปแบบการจัดบริการ ของหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านและการส่งเสริมองค์กรด้านคนพิการเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและมอบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรบริการการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการสำหรับคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา

นายอุดมโชค ชูรัตน์ ประธานมูลนิธิสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย กล่าวว่า ตนเคยใช้ชีวิตกับคนพิการรุนแรงขยับได้แค่คอในประเทศญี่ปุ่นแล้วรู้สึกตื่นตาตื่นใจมากที่พบว่าคนกลุ่มนี้สามารถออกมาใช้ชีวิตในสังคม เดินทางไปไหนมาไหนด้วยระบบโดยสารสาธารณะได้ สามารถเป็นถึงผู้บริหารโรงงาน รวมทั้งมีระบบผู้ช่วยมาช่วยในสิ่งที่คนพิการทำไม่ได้ และอยากให้มีระบบที่ช่วยให้คนพิการสามารถดำเนินชีวิตเกิดขึ้นในประเทศไทย จนกระทั่งปี 2545 องค์กรคนพิการของญี่ปุ่นได้เข้ามาช่วยสนับสนุนอุปกรณ์และจัดอบรมคนพิการในไทยให้สามารถออกมาดำเนินชีวิตในสังคมได้ เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งก็พบว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงของวิธีคิดคนพิการ จากเดิมที่เคยคิดว่าต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงไปตลอดชีวิต เปลี่ยนมาเป็นคิดว่าคนพิการก็สามารถพัฒนาศักยภาพและออกสู่สังคมได้ เมื่อขับเคลื่อนการดำรงชีวิตอิสระคนพิการมาเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายมาเป็นสภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย จากนั้น สปสช. เห็นความสำคัญและได้ผลักดันให้ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านผู้พิการในที่สุด


นายอุดมโชค กล่าวว่า งานขับเคลื่อนการดำรงชีวิตอิสระคนพิการ กล่าวได้ว่าเป็นการนำสิทธิและโอกาสไปสู่คนพิการ ทั้งในการมีชีวิตเป็นตัวของตัวเอง มีโอกาสไปไหนมาไหนเหมือนคนอื่น อย่างไรก็ดี ยังมีคนพิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถออกมาดำรงชีวิตในสังคมได้ งานของศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการคือการผลักดันให้คนพิการเหล่านี้เปลี่ยนวิธีคิดให้คิดว่ามีศักยภาพในการดำรงชีวิตในสังคมได้ ซึ่งผู้ฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการที่ผ่านการอบรมจะเป็นคนเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนพิการมีทักษะใช้ชีวิตในสังคมได้ต่อไป


ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การผลักดันศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการนั้น สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยน mind set จากเดิมที่รัฐเป็นผู้ให้ ประชาชนเป็นผู้รับ มาเป็นการให้ทุกคนมีความเสมอภาคและเข้ามามีส่วนร่วมมีบทบาทในเรื่องนี้


นพ.จักรกริช กล่าวต่อไปว่า ในขณะนี้ยังมีคนพิการอีกหลายคนที่ต้องการแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตนขอให้กำลังใจแก่การขับเคลื่อนงานด้านการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ และในอนาคต ตนอยากเห็นศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทุกจังหวัดหรืออย่างน้อยได้ 50% ก็ยังดี และมากไปกว่านั้น นอกจากการสร้างแรงผลักดันให้สามารถออกมาใช้ชีวิตในสังคม สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้แล้ว ตนอยากเห็นการทำงานร่วมกับท้องถิ่นในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่คนพิการ มีตัวอย่างดีๆที่ จ.สงขลา ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์ซ่อมซ่อมบำรุง ยืม-คืน กายอุปกรณ์ ซึ่งช่างซ่อมในศูนย์นี้มีแต่คนพิการ แสดงให้เห็นว่าถ้าทุกคนช่วยกันเปิดพื้นที่ คนพิการก็สามารถทำงานได้ และการขับเคลื่อนไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจากรัฐอย่างเดียว ยังมีงบประมาณในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งที่สามารถร่วมมือกับเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้