ม.มหิดล วิจัยลดติดเชื้อดื้อยาในรพ. มุ่งเป้ารักษาตรงจุด

มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคอุบัติใหม่เกิดมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งรวมถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมเกือบเข้าสู่หลัก 100 ล้านคน

         สาเหตุของโรคติดเชื้อนอกจากจะเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว การติดเชื้อจากแบคทีเรียก็เป็นสาเหตุสำคัญที่น่าวิตกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อแบคทีเรียดื้อยา "คลอสตริเดียม ดิฟฟิซิล" (Clostridium difficile) หรือ "ซีดิฟฟ์" (C. diff) ที่แพร่ระบาดในโรงพยาบาลทั่วโลกในหลายภูมิภาค โดยเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจาก องค์การสหประชาชาติ (UN) และ องค์การอนามัยโลก (WHO)

         ศาสตราจารย์ ดร.เทวัญ จันทร์วิไลศรี ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยหลักที่ได้รับทุนส่งเสริมบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (MU-MRC) ในคลัสเตอร์ "การพัฒนาแนวทางการรักษาแบบใหม่สำหรับการติดเชื้อก่อโรค Clostridium difficile ในโรงพยาบาล" กล่าวว่า ร้อยละ 40 ที่พบการติดเชื้อก่อโรค Clostridium difficile หรือ C. diff ในโรงพยาบาลในประเทศไทย เป็นผู้ป่วยโรคท้องร่วง เนื่องจากการตรวจเชื้อแบคทีเรีย C. diff นั้นทำได้ยาก ต้องใช้เวลากว่าหนึ่งสัปดาห์เพาะเชื้อแบบไร้อากาศ ทำให้ไม่ทันต่อการรักษา ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการเร่งด่วน ซึ่งส่งผลให้เชื้อแบคทีเรีย C. diff ที่อยู่ในลำไส้มีการเจริญเติบโตแพร่กระจายจนทำให้ร่างกายผู้ป่วยเสียสมดุล จากระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงจนกระทั่งเสียชีวิต

         เป้าหมายสำคัญของการวิจัย คือ ลดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย C. diff โดยมุ่งศึกษาที่กลไกการดื้อยา และใช้เทคนิคที่เรียกว่า "Drug repurposing" จากการใช้ยารักษาการแข็งตัวของเลือด ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C. diff มาทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะที่เข้าไปทำลายแบคทีเรียเจ้าบ้านในลำไส้  (normal gut flora) แต่กลับเป็นตัวเร่งให้เชื้อแบคทีเรีย C. diff เกิดการแพร่กระจาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการดื้อยา ด้วยเทคนิค "Drug repurposing" นี้จะช่วยลดระยะเวลาในการคิดค้นยาใหม่ซึ่งต้องใช้เวลานาน โดยใช้ยาชนิดอื่นที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้จริงในมนุษย์มาทดแทน โดยพบว่า ยารักษาการแข็งตัวของเลือด เป็นยาที่สามารถใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C. diff ในลำไส้ใหญ่ได้ แต่ไม่ส่งผลข้างเคียงดังเช่นยาปฏิชีวนะ

           นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้มีการทดลองใช้ไวรัสชนิดใหม่มาฆ่าแบคทีเรียก่อโรค และใช้โพรไบโอติกส์ (Probiotics) มาเสริมกำลังแบคทีเรียเจ้าบ้านโดย ศาสตราจารย์ ดร.เทวัญ จันทร์วิไลศรี ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงทิศทางการวิจัยโรคติดเชื้อในปัจจุบันว่า ไม่ว่าโลกจะมีการพัฒนายาเพื่อจัดการกับเชื้อโรคได้มากเพียงใด แต่กลับพบว่าบรรดาเชื้อโรคต่างๆ นั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองจนทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการดื้อยาได้มากขึ้นเท่านั้น จึงนับเป็นความท้าท้ายที่งานวิจัยโรคติดเชื้อในอนาคตจะมุ่งเป้าเพื่อการรักษาอย่างตรงจุดให้มากขึ้น
          ติดตามข่าวสารและงานวิจัยที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th