สบยช. เตือนยาเสพติดทำให้ผู้เสพขาดสติ อาจเกิดความรุนแรงในครอบครัว รีบนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดก่อนสาย

www.medi.co.th


กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัยยาเสพติดทำให้ผู้เสพ
ขาดสติ เป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงในครอบครัว แนะนำคนใกล้ชิดระมัดระวังตนเอง หมั่นสังเกตพฤติกรรม และรีบพาเข้าสู่กระบวนการบำบัดก่อนสาย


นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกระแสข่าวการเกิดความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงปัญหาอาชญากรรมในสังคม ที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาและสารเสพติดบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย พ่อแม่ ญาติพี่น้อง และบุคคลในครอบครัว ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายได้รับยาและสารเสพติดเป็นระยะเวลานาน ยาและสารเสพติดจะเข้าไปทำลายสมอง ในส่วนที่ควบคุมการใช้ความคิด ส่งผลให้สมองส่วนอยากอยู่เหนือสมองส่วนคิด ทำให้ผู้เสพทำอะไรตามใจ ตามอารมณ์ แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิด เกิดอาการทางจิตประสาท ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หมกมุ่นและจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เสพยา ซึ่งหากพบว่า บุคคลในครอบครัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งที่คนในครอบครัวควรทำ คือ ตั้งสติ ใช้เหตุผล ร่วมพูดคุยถึงต้นเหตุปัญหาร่วมกัน โดยไม่ดุด่า หรือลงโทษอย่างรุนแรง สร้างความเข้าใจกับทุกคนในครอบครัว ให้กำลังใจ แสดงความรัก ความห่วงใย ในเรื่องโทษภัย ของยาเสพติด ติดตามและเฝ้าระวัง ไม่ใช้การจับผิด หรือระแวงไม่ไว้วางใจ ทั้งนี้ พ่อแม่และบุคคลในครอบครัวต้องระมัดระวังตนเอง หมั่นสังเกตพฤติกรรมหากพบมีอาการผิดปกติต้องรีบปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อหาทางช่วยเหลือ หรือรีบพาไปปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยสามารถขอคำปรึกษาและรับการบำบัดรักษาได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข เช่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นต้น “การบำบัดรักษายาเสพติดรู้เร็ว รักษาเร็ว ก็ยิ่งหายเร็วขึ้น”


นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญในเรื่อง “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ที่ควรได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ ไม่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เป็นหน่วยงานหลักของกรมการแพทย์ ที่ให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาและสารเสพติด ซึ่งกระบวนการบำบัดรักษาไม่ได้ยุ่งยากหรือน่ากลัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ การบำบัดรักษามี 2 รูปแบบ คือ แบบผู้ป่วยนอก รักษาในรูปแบบกาย จิต สังคมบำบัดแบบไปกลับ แบบผู้ป่วยใน เน้นกระบวนการบำบัดให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็ง มีครอบครัวเป็นหลักสำคัญ ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบจะได้รับการดูแลจากแพทย์และทีมสหวิชาชีพ ให้การบำบัดรักษาอาการขาดยา รวมถึงภาวะแทรกซ้อนทางกาย ทางจิต โดยการให้ยาจนอาการดีขึ้นและให้การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้การใช้กระบวนการทางจิตวิทยาในการแก้ไขปัญหา การเสริมสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง รู้จักหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธยาเสพติด รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสังคม นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการฝึกวิชาชีพโดยผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วน บำบัดยาเสพติด 1165 และสายด่วนเลิกยาเสพติด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่  สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th