เรื่องโดย จุติพร วรรณศิริ Team Content www.thaihealth.or.th
“นวัตกรรม” มีหลายความหมายและหลากมุมมอง โดยทั่วไปหมายถึง การกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ ส่วน “นวัตกรรม” ในนิยามของ สสส. หมายถึง การทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีการ แนวคิดหรือกระบวนการใหม่ที่แก้ไขปัญหา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ
นวัตกรรมของ สสส. มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ เป็นสิ่งใหม่ ใช้แก้ไขปัญหา และนําไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยผลของรูปแบบการทำงานของ สสส. เพื่อจุดประกายความคิด และกระตุ้นการริเริ่มการทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ และอาจส่งผลให้เกิดนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพต่อไป
สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมสุขภาวะ จุดประกายให้เกิดการคิดใหม่ทำใหม่เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ชี้นำทำให้เห็นภาพสังคมสุขภาวะ ครบ 4 มิติ เช่น ThaiHealth Watch , PM Award 2022 , Health Tech X สุขล้ำไม่เหลื่อมล้ำ, อาคารเรียนรู้สุขภาวะ ต้นแบบอาคารรักษ์โลก ซึ่งตัวอย่างที่ยกมานี้ สสส. ต้องการกระตุ้นให้ ‘ทุกคน’ ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงให้เกิดสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนร่วมกัน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. มุ่งเน้นทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น และ 1 ในนโยบายสำคัญ คือ แนวคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และการมองหากลุ่มคนใหม่ ๆ เพื่อมาเป็นแรงขับเคลื่อนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษที่ 3 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านนโยบาย สิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ และการสร้างทักษะและพฤติกรรมส่วนบุคคลให้มีสุขภาพดีครบ 4 มิติ คือ สุขภาพกาย
“ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การแข่งขัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ VUCA World ซึ่ง “ปัญหาสุขภาพ” ก็ตกอยู่ในสถานการณ์นี้เช่นกัน คือ มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ การแก้ไขปัญหาสุขภาพจึงมีความท้าทายและต้องมองหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้ทันและรับมือกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ “นวัตกรรม” จึงเป็นเครื่องมือและทักษะสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ทั้งที่ยังแก้ไขไม่ได้ รวมถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้ง ทักษะความรู้ด้านนวัตกรรม เป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อผู้ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งเจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย” ดร.สุปรีดา กล่าว
ตัวอย่างนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ
– นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เช่น เสาหลักนำทางจากยางพารา E-Learning หลักสูตรการจัดการความปลอดภัยทางถนนของชุมชน โดยชุมชนเพื่อชุมชน
– นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ เช่น ช้อนปรุงลด เครื่องวัดความเค็ม Salt Meter ชุดปลูกผักสวนครัวอัจฉริยะ SOOK เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด
– นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น เตียงสั่งตัด นวัตกรรมการออกแบบห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ชุดความรู้การปรับสภาพบ้านสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น
– นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เช่น โต๊ะประชุมยืน เกมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหวฯ “น้องจุกผจญภัย”
สสส. ยังคงมุ่งมั่น ทำงานอย่างสร้างสรรค์ สานพลัง สร้างนวัตกรรม สื่อสารสุข ในยุคที่สังคมกำลังหันใส่ใจเรื่องสุขภาพ คุณค่าที่ สสส. ส่งมอบให้สังคม คือ การสร้างค่านิยมหรือเทรนด์ใหม่ในการสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านการสื่อสารรณรงค์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการให้แนวทางที่ปฏิบัติได้ง่ายในชีวิตประจำวัน กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ และการปฏิบัติจริง ส่งผลกระทบในสังคมวงกว้าง เน้นการดูแลป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพรอบด้าน รวมถึงการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ผ่านการจุดประกายด้วยนวัตกรรม สานพลังขับเคลื่อนสังคม และสร้างค่านิยมเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนและดีขึ้นต่อไป