ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนต่างต้องการได้รับโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่เท่าเทียมกัน จะดีเพียงใด หากเมื่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ แล้วได้รับบริการเทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาฉุกเฉิน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย ลีลากุศลวงศ์ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คือ หนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ผู้ร่วมพัฒนาการให้บริการรักษาของโรงพยาบาลศิริราชในฐานะประธานศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร วีกิจ วีรานุวัตติ์ ที่พร้อมด้วยทีมรักษาผู้ป่วยระดับอาจารย์แพทย์โรคระบบทางเดินอาหารคอยประจำการและให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที และถูกต้องตามการให้บริการการรักษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคเลือดออกในทางเดินอาหารอย่างเฉียบพลันที่มาเข้ารับการรักษาอย่างฉุกเฉิน ณ ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร วีกิจ วีรานุวัตติ์ ตลอด 24 ช.ม. และโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ในฐานะรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ฝ่ายศูนย์การแพทย์และสายการแพทย์ ที่เป็น "Super - tertiary hospital" หรือศูนย์บริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิขั้นสูง
นับตั้งแต่ที่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ดำรงตำแหน่งประธานท่านแรกของศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร วีกิจ วีรานุวัตติ์ จนปัจจุบันบริหารโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย ลีลากุศลวงศ์ ผู้คว้ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการบริการ ประจำปีการศึกษา 2564
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย ลีลากุศลวงศ์ ได้ริเริ่ม และจัดตั้ง Bleeding team ตั้งแต่ปีพ.ศ.2546 โดยจัดทีมอาจารย์แพทย์โรคระบบทางเดินอาหารดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคเลือดออกในทางเดินอาหารที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงให้สามารถได้รับการส่องกล้องตรวจ โดยมีอาจารย์แพทย์โรคระบบทางเดินอาหารคอยควบคุมการส่องกล้องทุกรายภายใน 24 ชั่วโมง
ตั้งแต่ก่อตั้ง Bleeding team ได้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เฉลี่ยปีละ 300 - 400 ราย ซึ่งนับรวมมากกว่า 5,000 รายแล้ว จนถึงปัจจุบันได้ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีปัญหาโรคเลือดออกในระบบทางเดินอาหารอย่างเฉียบพลันเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
และเป็นศูนย์ในประเทศไทยที่มีอาจารย์แพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งของสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ อาจารย์แพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ อาจารย์แพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ อาจารย์แพทย์ภาควิชาวิสัญญีวิทยา ร่วมมือกัน พร้อมให้บริการส่องกล้องทางเดินอาหาร ซึ่งครอบคลุมการส่องกล้องทุกประเภทมากที่สุด ด้วยความตระหนักถึงปัญหาโรคเลือดออกในทางเดินอาหารซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเสียชีวิต
"อาการที่พบส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะมีเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเดิมใช้วิธีการรักษาด้วยยา และการผ่าตัด แต่ปัจจุบันด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน พบว่าสามารถหยุดเลือดออกในกระเพาะอาหารได้มากกว่าร้อยละ 90" ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย ลีลากุศลวงศ์ กล่าว
ในฐานะผู้ก่อตั้ง "Bleeding team" ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย ลีลากุศลวงศ์ ได้ทำให้ศักยภาพของทีมอาจารย์แพทย์ประจำหน่วยฯ เป็นที่ประจักษ์ทั้งศักยภาพในการรักษา และความเสียสละ พร้อมทุ่มเทเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกฐานะ จนได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วย ให้เป็นที่พึ่งยามเจ็บไข้ เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงได้รับการส่องกล้องให้เข้ารับการรักษาในทันทีที่มีการส่งต่อในกรณีฉุกเฉิน
มากไปกว่านั้นศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร วีกิจ วีรานุวัตติ์ ยังเป็น “ศูนย์ฝึกสอนส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร” ที่ได้รับการยอมรับจาก ศูนย์ทางเดินอาหารของโลก (World Gastroenterology Training Center) จาก WGO (World Gastroenterology Organization) ภายใต้การดำเนินการของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย อบรมแพทย์ระบบทางเดินอาหารจากทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการทางการแพทย์ระบบทางเดินอาหารของเอเชีย (The Asian Pacific Digestive Week (APDW) 2023) ซึ่ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย ลีลากุศลวงศ์ รับหน้าที่ประธานจัดการประชุมในปี 2566 ที่จะถึงนี้
นอกจากนี้สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมชาย ลีลากุศลวงศ์ ยังได้ก่อตั้ง "Motillity Unit" ขึ้น ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดูแลโรคที่พบบ่อย และมีผู้ป่วยจำนวนมากในโรคระบบทางเดินอาหาร โดย Motillity Unit นี้ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาด้าน Motillity disorders อาทิ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคกรดไหลย้อน และโรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น และยังเป็นที่ฝึกสอนและดูงานสำหรับแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศอีกด้วย
สุดท้ายหน้าที่ให้การรักษาชีวิตผู้ป่วย ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่แพทย์ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องดูแลตัวเอง ด้วยการใช้ชีวิตที่ไม่บั่นทอนสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและ จิตใจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นยา หรือการรักษาที่ดีเพียงใด ก็ไม่สำคัญเท่า
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210