สร้างอนาคตสังคมไทย ขจัดภัยวงจรยาสูบ

www.medi.co.th

 


เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th    

ข้อมูลบางส่วนจาก งานเสวนาวิชาการ “ได้เวลา…วิถีสุขใหม่ ชาวไร่ยาสูบไทย” การประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ”  ครั้งที่ 20 และเอกสารข้อมูลชุด ยาสูบทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร


 


                ตลอดวงจรชีวิตยาสูบเปรียบเสมือนการวางยาพิษให้แก่โลก สร้างความเสียหายทั้งในด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ชาวไร่ยาสูบที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวยาสูบ อาจดูดซับสารนิโคตินต่อวันมากเท่ากับนิโคตินที่พบในบุหรี่ถึง 50 มวน ในใบยาสูบมีสารชนิดหนึ่งที่มีความเหนียว หากติดที่เสื้อผ้าจะซักไม่ออก ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความเมา เมื่อได้รับการเผาไหม้ สูบควันเข้าไปในร่างกาย แล้วพ่นออกมาที่เล็บนิ้วมือจะเป็นคราบสีดำ สารตัวนี้เมื่อสูบเข้าไปจะเกาะติดอยู่ในปอด เมื่อสะสมไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในที่สุด


 


                จากเวทีประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20 เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า ภัยซ่อนเร้นในสังคม” โดยความร่วมมือของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ได้ร่วมระดมแนวคิด หาทางออกให้แก่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบไทย ให้ไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากยาสูบ ในการพูดคุยผ่านเวทีย่อย “ได้เวลา…วิถีสุขใหม่ ชาวไร่ยาสูบไทย”


 


                นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 เล่าถึงบทบาทการทำงานควบคุมยาสูบของ สสส. ว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการและระบบข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น บุหรี่กับโควิด-19  การปลูกพืชทดแทนใบยาสูบ เพื่อเสริมสร้างความรู้รอบทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบให้แก่ประชาชนตระหนักและรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เหมาะสม


 


                รศ. ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าคณะทำงานพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและวิชาการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ประจำภาคเหนือ เล่าว่า จากผลการสำรวจ พบว่า ชาวไร่ยาสูบส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 52 ปี และสูงสุด 84 ปี ซึ่งค่อนไปทางผู้สูงวัย จึงเป็นข้อกังวลว่าด้วยอายุที่มาก และแนวโน้มว่าไม่มีลูกหลานทำต่อ ทำให้โอกาสในการเริ่มต้นประกอบอาชีพใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะชาวไร่ยาสูบนั้นปลูกยาสูบถึงประมาณ 7 ไร่ ต่อครัวเรือน ซึ่งถือเป็นรายได้หลัก 82% ของรายได้ทั้งปี อีกทั้งยังมีหนี้สินติดตัว ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญในการนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพอื่น เพราะมีต้นทุนไม่เพียงพอ จึงมีมาตรการและแนวทางภายใต้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่ยาสูบ เตรียมความพร้อมต่อการลดการบริโภคยาสูบของประชาชนอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ดังต่อไปนี้


                1. สนับสนุนทางเลือกที่เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ อาทิ การสร้างความสามารถในการแข่งขันจากสินค้าผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรกรรม รวมถึงการสร้างกลไกในการสนับสนุนทางเลือกที่เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นสัมฤทธิผล            


                2. ส่งเสริมให้เกษตรกรและแรงงานในไร่ยาสูบ รวมถึงภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนด ทิศทางการสนับสนุนทางเลือกที่เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ


                3. พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพกลุ่มเป้าหมายด้านทักษะอาชีพ


                4. กำหนดแนวทางในการลดหรือจำกัดบทบาทของอุตสาหกรรมยาสูบในการส่งเสริม สนับสนุน ให้เกษตรกรปลูกยาสูบ


                5. สนับสนุนการวิจัยในมิติที่เกี่ยวกับทางเลือกที่เป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของเกษตรกร และมิติด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม


                6. จัดการข้อจำกัด และอุปสรรคต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพที่เป็นทางเลือกใหม่ อาทิ การสร้างตลาดใหม่ ที่เน้นความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต การสนับสนุนด้านงบประมาณ


                7. มุ่งเน้นการคุ้มครองด้านสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการปลูกยาสูบ

 


 


                นายไฟซอล สะเหล็ม ผู้รับผิดชอบโครงการลดการพึ่งพิงยาสูบ มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย เล่าถึงภาพรวมการทำงานของโครงการให้ฟังว่า โครงการลดการพึ่งพิงยาสูบ “ครอบครัวปลอดภัย ชุมชนสดใส ไร้ใบยาสูบ” จัดตั้งขึ้นเพื่อลดพื้นที่การปลูกยาสูบ ซึ่งเป็นต้นทางของปัญหาบุหรี่ ด้วยกระบวนการให้ความรู้พิษภัยวงจรยาสูบ และร่วมกันหาแนวทางสร้างอาชีพจากเศรษฐกิจทางเลือก โดยมีกลุ่มป้าหมาย เป็นครัวเรือนที่อยู่ในชุมชนที่ปลูกใบยาสูบเพื่อบริโภคเอง และครัวเรือนที่อยู่ในชุมชนที่ปลูกใบยาสูบเพื่อขายเป็นรายได้เสริมในพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล และพัทลุง


 


                 “โดยผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมาในปี 2561-2564 จาก 16 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในภาพรวมสามารถลดพื้นที่การปลูกยาสูบได้ถึง 6.92 ไร่ เทียบเท่าการลดจำนวนบุหรี่ลงได้ 276,800 มวน หรือ 13,844 ซอง โดยสนับสนุนให้ชาวไร่ยาสูบปลูกพืชทดแทน อาทิ ผักสวนครัวปลอดสารพิษ ต้นกาแฟ เพาะเห็ด ปลูกถั่วลิสง ต้นไผ่ และส้มจุก”นายไฟซอล กล่าว   


                พิษภัยของยาสูบนั้นไม่ได้สร้างเพียงผลกระทบในแง่ของสุขภาพ หากแต่ยังส่งผลกระทบไปถึงด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สสส. และภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานด้านการควบคุมยาสูบ ตระหนักถึงปัญหานี้ และมุ่งที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมไร้ควันบุหรี่ ลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ สร้างทางเลือกในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน