Smart City เป็นแนวคิดการสร้างและพัฒนาเมืองไปสู่เมืองอัจฉริยะ โดยหลายเมืองทั่วโลกได้มีการปรับตัว และพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ตอบสนองความต้องการของประชาชนคนเมืองให้ได้มากที่สุด ในอดีตเมืองอัจฉริยะมีจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาทางกายภาพ เพื่อให้เกิดสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตที่ดี แต่หลังจากเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว ได้มีการนำระบบออนไลน์มาแก้ปัญหาเมืองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น โดย Smart City ที่ดี ต้องคืนเวลา มอบโอกาสการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน อีกทั้ง ยังต้องสร้างความสุขให้กับชาวเมืองอย่างแท้จริง
- Smart City คืนความสุขให้ชาวกรุงเทพฯ ได้อย่างไร
รศ. ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน หลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการปัญหาของคนเมืองในหลากหลายมิติ ทั้งปัญหาระดับเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย อาทิ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน การจราจร ฝุ่น PM 2.5 ฯลฯ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพ คือ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดให้คนกรุงเทพ และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ รายงานสภาพปัญหาที่พบเจอเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่พิจารณาและดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีแล้ว ยังสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนร่วมกัน
รศ. ดร.ประพัทธ์พงษ์ กล่าวต่อว่า เพื่อสนับสนุนให้ กรุงเทพมหานคร ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) จากการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมือง รวมถึงการวางผังเมือง (Urban Planning) โดยเร็วที่สุด จำเป็นต้องมีนักเทคโนโลยีหรือนวัตกรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองร่วมกับนักผังเมือง รวมถึงก้าวข้าม 3 เงื่อนไขในการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง สร้างการเข้าถึงโครงสร้างสาธารณะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1. กำหนดทิศทางขับเคลื่อนนโยบายเมืองอัจฉริยะที่ชัดเจน 2. ยืดหยุ่นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สอดรับกับความต้องการได้ เนื่องจากปัจจุบันมีข้อจำกัดด้านกฎหมายที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 3. จัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก
- เปิดแนวคิด Smart City จาก 3 ประเทศที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง
มาดูแนวคิดการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของประเทศใดบ้างที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประชากรในประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านคุณภาพชีวิตที่สามารถเข้าถึงระบบบริการต่างๆ ที่ทันสมัยได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น อาทิ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นเมืองหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะด้านการใช้พลังงานสะอาดและการจัดเก็บพลังงานเพื่อนำมาจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เมืองชองโด ประเทศเกาหลีใต้ โดดเด่นด้านเทคโนโลยีเครือข่ายเมือง พัฒนาระบบอัตโนมัติช่วยจัดการขยะของเมืองด้วยการดูดลงใต้ดิน และระบบจะทำการคัดแยกขยะให้โดยอัตโนมัติ และเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมืองที่มีแพลตฟอร์มในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงข้อมูลสาธารณะแบบเรียลไทม์ และมีความโปร่งใส พร้อมทั้งระบบควบคุมไฟบนท้องถนนอัจฉริยะ ระบบจัดการขยะอัจฉริยะ หรือการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
- สจล. ร่วมพัฒนา Smart City ผ่านงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ผ่านศูนย์ SCiRA
สมาร์ทซิตี้เป็นเรื่องที่ยังต้องศึกษา และพัฒนาเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และขยายพื้นที่ของความเป็นเมืองอัจฉริยะให้กว้างมากขึ้น โดยนำความสำเร็จจากหลากหลายเมืองทั่วโลกมาต่อยอดพัฒนาพื้นที่เมืองในประเทศไทย ซึ่งสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ สจล. หรือ Smart City Innovative Research Academy (SCiRA) เป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งสร้างองค์ความรู้การพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเมืองให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะในหลากมิติ อาทิ ระบบการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ระบบเตือนภัยพิบัติอัจฉริยะ (Smart Disaster) ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ (Smart Infrastructure) ระบบการพัฒนาเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ระบบการพัฒนาการใช้ที่ดินอัจฉริยะ (Smart Land Use) ระบบสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
ที่ผ่านมา SCiRA ได้เดินหน้าพัฒนาโครงการและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาชีวิตคนเมือง และพัฒนาเมืองให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่นที่พัฒนามาเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด หรือการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านต่างๆ ของกรุงเทพฯ เพื่อวิเคราะห์ และเผยแพร่องค์ความรู้” รศ. ดร.ประพัทธ์พงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน รศ. ดร.คมสัน มาลีสี รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. ตระหนักดีถึงปัญหาของเมืองและการพัฒนาก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ จึงเร่งศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้ด้านเมืองอัจฉริยะและการพัฒนาเมืองในอนาคตอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการวางแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนานวัตกรรมให้สอดรับกับการเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายการบริหารงานของสถาบัน ในด้าน Global Management ที่ตั้งเป้าสร้างการเปลี่ยนแปลงสถาบันสู่การเป็น Digital University Platform มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรภายในสถาบัน ตอกย้ำวิสัยทัศน์ของสถาบันในฐานะผู้นำนวัตกรรมระดับโลก (The World Master of Innovation) โดยแท้จริง