สปสช.ชวนประชาชนร่วมใช้ประโยชน์ข้อมูลระบบ “แดชบอร์ด สปสช.” ติดตามบริการภายใต้กองทุนบัตรทอง ขณะที่หน่วยบริการดูภาพรวมการเบิกจ่ายและข้อมูลบริการได้ นำไปสู่การให้บริการสุขภาพในพื้นที่ พร้อมย้ำเป็นการคืนข้อมูล Big Data สู่สาธารณะ เพื่อประโยชน์สุขภาพคนไทยในอนาคต
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้จัดทำระบบสารสนเทศการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ แดชบอร์ด (Dashboard) เพื่อรายงานข้อมูลผลดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือระบบบัตรทอง โดยเปิดให้ประชาชนและหน่วยบริการเข้าระบบเพื่อดูข้อมูลได้ เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้นอกจากเป็นการเปิดเผยข้อมูลในระบบ สปสช.เพื่อแสดงความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานแล้ว ยังเป็นการคืนข้อมูลสู่สาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยข้อมูลของ สปสช.ครอบคลุมตั้งแต่ข้อมูลการให้บริการสาธารณสุข ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพ และงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น ทั้งเป็นระบบที่ดูแลประชาชนทั้งประเทศ ทำให้ สปสช. เป็นคลังข้อมูลสุขภาพระดับประเทศ หรือที่เรียกว่า Big Data ได้
ทั้งนี้ ระบบแดชบอร์ด สปสช. เบื้องต้นครอบคลุมข้อมูลการบริการในระบบบัตรทอง ซึ่ง สปสช. ได้แยกระบบการรายงานข้อมูลที่เป็นไปตามกลุ่มเป้าหมาย สำหรับประชาชนทั่วไปและหน่วยบริการ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ระบบแดชบอร์ดที่เป็นข้อมูลสำหรับประชาชนทั่วไป สปสช.ได้จัดทำรายงานข้อมูลรูปแบบอินโฟกราฟฟิก (infographic) ที่ดูและเข้าใจได้ง่าย โดยมีการแยกหมวดการรายงานข้อมูล ดังนี้
บริการตามสิทธิประโยชน์ ได้แก่ บริการสร้างเสริมสุขภาพที่จ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule) เช่น ฝากครรภ์ กลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ คัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทยรอยด์แต่กำเนิด คัดกรองมะเร็งปากมดลูก แว่นตาสำหรับเด็กที่มีสายตาผิดปกติ คุมกำเนิดกึ่งถาวรในวัยรุ่น บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวร และยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น บริการผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส (COVID-19) บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลด้านการคุ้มครองสิทธิและการมีส่วนร่วม และกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.)
ส่วนระบบแดชบอร์ดที่เป็นข้อมูลสำหรับหน่วยบริการนั้น ในการเข้าดูข้อมูลหน่วยบริการจะต้องใช้รหัส (Password) เดียวกับการเข้าสู่ระบบเบิกจ่าย ซึ่งนอกจากข้อมูลการให้บริการแล้ว ยังมีข้อมูลการเบิกจ่ายเพื่อให้หน่วยบริการรับทราบ ทำให้รูปแบบอินโฟกราฟฟิกเช่นกัน โดยมีข้อมูลตามหมวดบริการ ดังนี้
บริการที่จ่ายตามรายการ ได้แก่ บริการสร้างเสริมสุขภาพที่จ่ายตามรายการบริการ (Fee Schedule)
บริการผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง บริการ Telehealth บริการผู้ป่วยเบาหวานความดัน
บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น บริการตามนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ บริการผู้ป่วยนอกปฐมภูมิรักษาทุกที่ บริการผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ลงทะเบียนและเปลี่ยนหน่วยบริการได้สิทธิทันที บริการคุ้มครองสิทธิและการมีส่วนร่วม ได้แก่ ข้อมูลบริการคุ้มครองสิทธิ และข้อมูลกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) ได้แก่ การดำเนินงานโครงการโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เป็นต้น
“วันนี้ประชาชนและหน่วยบริการสามารถเข้าดูระบบแดชบอร์ด สปสช. ได้แล้ว ซึ่ง สปสช. เชื่อมั่นว่าข้อมูลต่างๆ ในระบบเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและหน่วยบริการรวมถึงหน่วยงานและนักวิจัย เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ วางแผนและประเมิน นำไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยทุกคน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว