กรุงเทพฯ –โรคหัวใจ โรคที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไร เนื่องในโอกาสวันหัวใจโลกปี 2565โครงการ Hug Your Heart โดยแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จึงได้เรียนเชิญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาระบบหัวใจและหลอดเลือดมาร่วมถ่ายทอดความรู้ พร้อมตอบคำถามเกี่ยวกับโรคหัวใจชนิดต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักพร้อมเตรียมรับมือกับโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น
โครงการ Hug Your Heartและ นพ. ธีรวิทย์ เหลืองดิลก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาระบบหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลตรัง
นายแพทย์ ธีรวิทย์ เหลืองดิลก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาระบบหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลตรัง กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับ 3 โรคหลัก ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease)และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome) ซึ่งแต่ละโรคจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) คือ โรคหรือภาวะบางอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวและสูบฉีดเลือดได้น้อยลง ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมต่างๆ เช่น กลุ่มโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงสูงกว่าบุคคลทั่วไป หรือภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือเป็นหวัด และไวรัสดังกล่าวไปทำร้ายกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง รวมไปถึงภาวะการตั้งครรภ์บางอย่างจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดความเสียหายสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โดยผู้ป่วยโรคนี้ มักจะมีอาการเหนื่อยง่าย ตัวบวม ไม่สามารถนอนในท่าราบได้เนื่องจากมีน้ำคั่งค้างในร่างกายเป็นจำนวนมาก และมีภาวะน้ำท่วมปอดร่วมด้วย
โรคหลอดเลือดหัวใจ (CoronaryArtery Disease) เกิดจากการที่หลอดเลือดเสื่อมลง เนื่องจากอายุที่มากขึ้น หรือจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างการสูบบุหรี่จัด การไม่เลือกรับประทานอาหารจนมีภาวะไขมันในเลือดสูง การเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้เกิดการก่อตัวของชั้นไขมันในหลอดเลือด จนเส้นเลือดหัวใจตีบ และเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอโดยอาการที่เห็นได้ชัด คือ อาการเจ็บหน้าอกเมื่อออกกำลังกายหรือใช้แรงมาก ซึ่งอาการจะทุเลาลงเมื่อหยุดทำกิจกรรมดังกล่าว
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome)เป็นภาวะที่ต่อยอดจาก โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease)และมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน โดยภาวะนี้จะเกิดจากการฉีกขาดหรือปริแตกของผนังหลอดเลือดจนเป็นแผลฉับพลันและทำให้เกล็ดเลือดที่ทำหน้าที่สมานแผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งหากเกิดลิ่มเลือดอุดกั้นบางส่วน จะส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจเกิดอาการอุดตัน และทำให้การไหลของเลือดในหลอดเลือดหัวใจลดลงอย่างฉับพลันได้โดยผู้ป่วยประเภทนี้อาจเกิดอาการแน่นหน้าอกเป็นระยะเวลานานกว่า 15-20 นาทีพร้อมทั้งมีเหงื่อออกเป็นจำนวนมากรวมถึงเกิดอาการใจสั่นร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินความรุนแรงโดยทันที
ทั้งนี้ แม้คนส่วนใหญ่จะเคยได้ยินและเข้าใจเกี่ยวกับโรคเหล่านี้มาบ้าง แต่ก็ยังเกิดคำถามเกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่พบ รวมไปถึงยังกังวลถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจซึ่งในวันนี้ นายแพทย์ ธีรวิทย์ จะมาร่วมตอบ 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัวใจพร้อมแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพที่ส่งผลต่อหัวใจโดยตรง เพื่อให้ทุกคนได้ลองนำไปทำตามด้วยตนเอง
1. อาการเจ็บหน้าอก เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจหรือไม่
อาการเจ็บหน้าอกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจเสมอไป เนื่องจาก หน้าอกประกอบด้วยผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูกซี่โครง หลอดอาหาร และหัวใจ ซึ่งอวัยวะเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ ดังนั้น เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำต้องอาศัยการซักประวัติของแพทย์ แต่อย่างไรก็ตาม การรู้จักลักษณะจำเพาะของอาการโรคหัวใจก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าอาการแบบไหนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองเบื้องต้น ก่อนรีบไปพบแพทย์
2. โรคหัวใจพบได้แค่ในผู้สูงอายุหรือไม่
ไม่ใช่ เพราะถึงแม้ว่า โรคหัวใจที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลกจะเป็น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุจากสาเหตุความเสื่อมของหลอดเลือด แต่ปัจจุบันกลับพบว่าคนที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่น ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน
โดยในเด็กหรือคนอายุน้อยมักจะเป็นโรคหัวใจที่เกิดจากความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด หรือ ผนังหัวใจรั่ว ส่วนโรคหัวใจที่พบบ่อยในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อายุ 30 – 35 ปี มักจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการสูบบุหรี่ เป็นต้นทั้งนี้ แม้แต่นักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพหรือผู้ที่ใช้ร่างกายหนักๆ ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนควรต้องตรวจสุขภาพหัวใจเพื่อประเมินว่าสามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่หักโหมได้หรือไม่
3. ความเครียด ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพหัวใจ
ความเครียดอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจโดยตรง แต่ความเครียดมักส่งผลต่อปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เนื่องจากผู้ที่มีความเครียดสูงมักจะดูแลสุขภาพน้อยลงทานอาหารมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคอ้วนหรือเบาหวาน ส่งผลต่อระดับความดันเลือดและคอเลสเตอรอล รวมถึงอาจกระตุ้นให้เกิดการสูบบุหรี่ ทำให้มีโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบมากไปกว่านั้น ความเครียดยังทำให้ร่างกายเกิดความดันเลือดสูง ซึ่งหากเกิดบ่อยครั้งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่หลอดเลือดหัวใจและไต ดังนั้น การลดความเครียด จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้
4. ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจที่อันตรายที่สุดคืออะไร
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจในที่นี้หมายถึง ภาวะการเกิดโรค หรือความผิดปกติ ที่เกิดตามมาจากผลของการเป็นโรคหัวใจนั้นๆ การเกิดโรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ หรือโรคลิ้นหัวใจอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและนับเป็นระยะสุดท้ายของโรคหัวใจทุกโรคโดยผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการเหนื่อย น้ำท่วมปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
5. สิ่งใดคือกุญแจหลักของหัวใจที่แข็งแรง
เนื่องจากโรคหัวใจมีหลายประเภทการทำความเข้าใจความแตกต่างและสาเหตุของแต่ละโรคถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สามารถดูแลสุขภาพทั้งกายและใจได้อย่างถูกต้อง โดยโรคหัวใจนับเป็นโรคเรื้อรังหากเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปได้ หากดูแลตัวเองและเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจคือสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผ่านการปรับพฤติกรรมส่วนตัวและการดำเนินชีวิต อย่างการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่นอาหารจำพวกเบเกอรี่ หรือของทอดออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์งดสูบบุหรี่ ผ่อนคลายความเครียดเพื่อควบคุมความดันโลหิตหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปเพราะการสังเกตร่างกายและการดูแลสุขภาพที่ดี เป็นหัวใจหลักของการรักษาสุขภาพหัวใจและร่างกาย
เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า
แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จากแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.comและช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca