บอร์ด Medical Hub อนุมัติประกาศให้ไทยเป็น Thailand Wellness Economic Corridor (TWC) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้กลับสู่ประเทศ


บอร์ด Medical Hub อนุมัติประกาศให้ไทยเป็น Thailand Wellness Economic Corridor (TWC) ให้กับกลุ่ม Medical and Wellness Tourism ใน 12 สาขาเศรษฐกิจเวลเนสเป้าหมาย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด 19 และสร้างรายได้กลับสู่ประเทศจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตสูง


ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายอารัญ บุญชัย รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ครั้งที่ 2/2565


ดร.สาธิต กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดนโยบาย Medical Hub มีมติอนุมัติหลักการใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ (1) แผนยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor : AWC) ที่ส่งเสริมบริการสุขภาพด้วยกลไกพิเศษ โดยใช้นวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ จ.ภูเก็ต : ศูนย์กลางการรักษาในกลุ่มโรคสลับซับซ้อน ทันตกรรม ผ่าตัดแปลงเพศ สปา ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน, ศูนย์กลางการประชุมและนิทรรศการนานาชาติ และศูนย์กลางบริการเวลเนสระดับโลก รวมถึงการเตรียมจัดงาน Specialized Expo – Phuket 2028 จ.พังงา : ศูนย์กลางการดูแลนักท่องเที่ยวทางทะเล ร่วมกับ Sky Doctor,ศูนย์ประสานงานกลางจัดเก็บค่ารักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติเพื่อลดปัญหาหนี้สูญ, พัฒนาระบบกลุ่มพำนักระยะยาวในการรักษา Climate Therapy, พัฒนาศูนย์ทันตกรรม จ.กระบี่ : ส่งเสริมพัฒนาสปาคลองท่อมสู่ระดับโลก จ.ตรัง : ศูนย์กลางเมืองแห่งอาหารการกิน, ศูนย์กลาง Wellness Destination ในพื้นที่อันดามัน จ.สตูล : การพัฒนาเป็นเมืองพำนักระยะยาว จ.ระนอง : แหล่งน้ำพุร้อน สปาเพื่อการบำบัดโดยเฉพาะ เป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างการระบาดและภายหลังการระบาดของโควิด 19 สร้างพื้นที่พร้อมยกระดับสมรรถนะกิจการธุรกิจสุขภาพ เพื่อรองรับการบริการนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง (2) การส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการ จ.อุดรธานี เมืองทางการแพทย์ (Udonthani Green Medical Town: UGDMT) สู่ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอีสานตอนบนสู่อินโดจีน : โครงการจัดตั้งศูนย์มะเร็งเป็น “ศูนย์การแพทย์แม่นยำในภูมิภาคอินโดจีน เพื่อบรรลุการเป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพลุ่มน้ำโขงที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและบริการสุขภาพ และ (3) การพัฒนาระบบอนุญาตหลัก (Super License) รองรับการประกอบกิจการเพื่อสุขภาพในพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะมีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป


ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังสั่งการ 3 เรื่องสำคัญ คือ (1) การประกาศให้ประเทศไทยเป็น Thailand Wellness Economic Corridor (TWC) และกฎหมายเฉพาะ ซึ่งกลุ่ม Medical Tourism และ Health and Wellness Tourism สามารถสร้างรายได้ถึง 80,000 – 120,000 บาท/ครั้ง การพัฒนาศักยภาพเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะช่วยดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้กลับสู่ประเทศเกิดการจ้างงาน ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิง Medical and Wellness สู่เวทีโลก (2) ต้นแบบความร่วมมือรัฐ เอกชน สู่การขับเคลื่อนจังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนุภูมิภาค เนื่องจากมีความพร้อมด้านแหล่งท่องเที่ยวและการคมนาคม นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางสะดวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย (3) การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยว คุ้มครองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ประสบอุบัติเหตุอย่างเหมาะสม รวมถึงพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจรและยั่งยืน