สปสช.แจงกรณียกเลิกสัญญา 9 โรงพยาบาลเอกชนใน กทม.เป็นไปตามมติบอร์ด สปสช.และกฎหมาย ย้ำไม่ได้ยกเลิกสิทธิบัตรทองที่เป็นสิทธิรักษาของประชาชน แจงเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบกับประชาชนไว้แล้ว ในระยะเปลี่ยนผ่านให้หากเจ็บป่วยเข้ารักษาได้ทุกสถานพยาบาลในระบบ สปสช. และระหว่างนี้สามารถเลือกหน่วยบริการประจำแห่งใหม่ตามความสะดวกได้ด้วยตัวเอง ส่วนผู้ป่วยนัดรักษา สปสช.ประสานสถานพยาบาลแห่งใหม่รองรับแล้ว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการยกเลิกสัญญาบริการของโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ กทม.จำนวน 9 แห่ง เนื่องจากเบิกจ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุขไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า ประการแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สปสช.ยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน แต่ไม่ได้ยกเลิกสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชน และยกเลิกสัญญากับ รพ.เอกชน 9 แห่งในพื้นที่ กทม.เท่านั้น ยังมี รพ.เอกชนทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดที่เข้าร่วมในระบบ สปสช.หรือระบบบัตรทองอยู่ในประเภทปฐมภูมิ/ประจำ/รับส่งต่อทั่วไป ขณะนี้ทั่วประเทศมี 29 แห่ง แบ่งเป็น กทม. 6 แห่ง และต่างจังหวัด 23 แห่ง และสาเหตุที่ต้องยกเลิกสัญญานั้นเนื่องจากโรงพยาบาลเหล่านี้ส่งเบิกค่าใช้จ่ายในการให้บริการไม่ถูกต้องตามกฎหมายจึงต้องยกเลิกสัญญาซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นการยกเลิกอย่างไม่มีเหตุผลหรือไม่มีที่มาที่ไปแต่อย่างใด
ประการต่อมา จำนวนผู้ได้รับผลกระทบนั้น มีผู้ที่ลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำกับโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งนี้ มีประมาณ 2 แสนราย และผู้ที่มี รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่งเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อประมาณ 6.9 แสนราย ไม่ใช่ 1 ล้านราย และเมื่อพิจารณารายละเอียดแล้วจะพบว่าผู้ที่ลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำกับโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง จำนวน 2 แสนรายนั้น มีประมาณ 1.2 แสนราย เคยมารับบริการ โดยมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังประมาณ 2 หมื่นรายมารับบริการ และประมาณ 4,000 รายที่มารับบริการต่อเนื่อง
นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า สปสช.ได้คำนึงถึงผลกระทบและการเข้าถึงบริการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ สปสช. ได้หารือกับโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 9 แห่งขอความร่วมมือดูแลผู้ป่วยต่อในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ผู้ที่มารับบริการเป็นประจำเหล่านี้ ยังสามารถไปรับบริการกับโรงพยาบาลต่อไปได้ เช่น กรณีเป็นเบาหวานแล้วต้องไปรับยา หรือการรักษาอื่นๆ อย่างน้อยสามารถรับบริการได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 โดย สปสช.จะตามไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเองแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน สปสช.ยังได้จัดหาหน่วยบริการรองรับผู้ป่วยที่มีนัดหมายรักษาแล้ว โดยเป็นความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ และหน่วยบริการสังกัดอื่นๆทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ
พร้อมกันนั้น สปสช.จะค่อยๆ ชี้แจงทำความเข้าใจและให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเลือกลงทะเบียนหน่วยบริการประจำแห่งใหม่ตามที่ตนสะดวกไปรับบริการ ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่าง สปสช. กรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ และโรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ในพื้นที่ กทม. นอกจากจะจัดหา รพ.รับส่งต่อให้ประชาชนแล้ว ยังจะมีการขยายเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม. เพื่อให้ประชาชนเลือกรับบริการได้ และจะเปิดให้ประชาชนเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำแห่งใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ สำหรับผู้ใช้สิทธิซึ่งยังไม่เคยมารับบริการรวมถึงที่มารับบริการเพียงครั้งเดียวนั้น สปสช.ให้สิทธิเป็น VIP กล่าวคือสามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ในระบบ สปสช.
“2 ปีก่อน สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกชุมชนอบอุ่นกว่าร้อยแห่งแล้วบอกว่าเป็นสิทธิว่าง คนก็ตกใจว่าสิทธิว่างคือไม่มีสิทธิหรือไม่ จริงๆแล้วตรงกันข้าม สิทธิว่างคือสิทธิ VIP ไปที่ไหนก็ได้ และวันนี้เราก็เปลี่ยนกติกาแล้ว ไม่ใช่ว่าประชาชนพอใจไปรับบริการตรงนั้นแล้วเราจะลงทะเบียนหน่วยบริการประจำตรงโน้นให้ แต่เราให้ประชาชนเป็นคนลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำด้วยตัวเองผ่านทางไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso และแอปพลิเคชัน สปสช. หรือง่ายที่สุดโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 เราเตรียมหน่วยบริการปฐมภูมิให้ลองไปรับบริการดู ถ้าตกลงใจที่ไหนค่อยลงทะเบียนที่นั่น ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งในกลุ่มนี้เชื่อว่าค่อยๆ ใช้เวลาระยะหนึ่งในการลงทะเบียน และจะเกิดผลกระทบไม่มากนัก” นพ.จเด็จ กล่าว