เริ่มแล้ว “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติ” เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี มีฟันบดเคี้ยว

www.medi.co.th

เริ่มโครงการ “ฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติในหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา” ดูแลคนไทยทุกคนที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร พร้อมสืบสานต่อยอดโครงการฯ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้บริการใส่ฟันเทียมทั้งปาก หรือเกือบทั้งปาก ให้กับประชาชนทุกสิทธิ ติดต่อที่ รพ.สังกัด สธ. และ รพ.รัฐ ทั่วประเทศ สิทธิประกันสังคมรับบริการได้ที่ รพ.เอกชน และคลินิกทันตกรรมเอกชน ส่วนบริการฝังรากฟันเทียมกับผู้มีปัญหาฟันเทียมหลวมและขยับเฉพาะสิทธิบัตรทอง ที่ รพ.ที่เข้าร่วมโครงการ


        ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินการ “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ภายใต้ความร่วมมือ โดยกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมการแพทย์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ทั้งยังเป็นการสืบสานโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ปัญหาให้ผู้ที่สูญเสียฟันทั้งปากให้ได้รับฟันเทียม สำหรับคนไทยทุกสิทธิมาตั้งแต่ปี 2548 ทำให้สามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี


ทั้งนี้โครงการฯ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี คือ ปี 2566 -2567 นอกจากบริการใส่ฟันเทียมที่กำหนดเป้าหมาย 72,000 ราย ให้กับคนไทยทุกสิทธิการรักษาแล้ว ยังเพิ่มเติมการให้บริการรากฟันเทียมกับผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมแล้วหลวม เบื้องต้นให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาทก่อน เพื่อจัดระบบบริการ กำหนดเป้าหมาย 7,200 ราย โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567


“สปสช.ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ โดยตระหนักถึงปัญหาของผู้ที่ไม่มีฟันบดเคี้ยว โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ซึ่งตั้งแต่ปี 2548 มีผู้ที่ได้รับการใส่ฟันเทียมภายใต้แล้ว 720,000 ราย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน ทพญ.วรางคนา เวชวิธี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า การเข้ารับบริการใส่ฟันเทียมภายใต้โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติฯ ครอบคลุมคนไทยทุกอายุ โดยการใส่ฟันเทียมทั้งปากหรือเกือบทั้งปาก รับบริการได้ทุกสิทธิการรักษา ทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยมีเป้าหมายบริการปี 2566 - 2567 จำนวน 72,000 ราย โดยผู้มีสิทธิบัตรทองเข้ารับการใส่ฟันเทียมที่โรงพยาบาลรัฐ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยบริการประจำตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน แต่ขอให้เป็นหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อความสะดวกรักษาต่อเนื่อง โดยรับบริการได้ทั้งที่โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 800 แห่ง สำหรับผู้ประกันตนรับบริการได้ที่โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมเอกชนในระบบประกันสังคม โดยเบิกจ่ายจากสำนักงานประกันสังคมตามจริงไม่เกินวงเงิน 4,400 บาท ส่วนผู้มีสิทธิข้าราชการเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ป่วยใหม่เท่านั้น แต่ผู้ป่วยรายเก่าก็เข้ารับบริการได้ตามเกณฑ์รับบริการ ถ้าใส่ฟันเทียมชุดเก่านานกว่า 5 ปี


        ส่วนบริการฝังรากฟันเทียมนั้นกำหนดเป้าหมายบริการ 7,200 ราย หรือ 14,000 ราก ปี 2566ให้บริการ 3,500 ราย และปีที่ 2 จำนวน 3,700 ราย เป็นการดำเนินการเพื่อสืบสานต่อยอดโครงการฟันเทียมพระราชทานฯ  ที่ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมแล้วหลวม ขยับ จำเป็นต้องฝังรากฟันเทียมเพื่อยึดฟันเทียมให้แน่นขึ้น แต่ด้วยรากฟันเทียมต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและทำโดยทันตแพทย์ที่ผ่านการอบรม รวมถึงโรงพยาบาลต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ เบื้องต้นจึงให้บริการเฉพาะผู้ที่มีสิทธิบัตรทองก่อนเพื่อวางระบบบริการ ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมรากฟันเทียมของไทย ที่พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์


        เบื้องต้นผู้ป่วยต้องเริ่มทำฟันเทียมก่อน เมื่อทันตแพทย์ประเมินแล้วว่าฟันเทียมใส่ยึดติดกับเหงือกไม่ได้ ก็จะส่งต่อรักษาทำรากฟันเทียมด้วยการปักหมุดลงไปที่ฟันเขี้ยว 2 ซี่ล่างเพื่อยึดติด ซึ่งผู้ป่วยต้องมารับบริการต่อเนื่อง 3 ครั้งในช่วง 4 เดือน โดยความยากของการให้บริการรากฟันเทียมคือ หน่วยบริการที่ทำรากฟันได้ยังมีจำกัด ขณะนี้มีโรงพยาบาล 190 แห่งที่ทำได้ ในจำนวนนี้เป็น โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป  77 แห่ง ที่เหลือเป็นโรงพยาบาลชุมชน ส่วนในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ได้แก่ สถาบันทันตกรรม สถาบันประสาท และ รพ.ราชวิถี อย่างไรก็ตามในอนาคตจะมีการขยายหน่วยบริการรากฟันเทียมเพิ่มเติม เนื่องจากสถาบันทันตกรรมมีแผนที่จะจัดการอบรมทันตแพทย์เพิ่มเติม พร้อมความร่วมมือจากโรงพยาบาลในการลงทุนเครื่องมือทำรากฟันเทียม

 


ทพญ.วรางคนา กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ใครที่ไม่มีฟันหรือสูญเสียฟันเกือบทั้งปาก และต้องการใส่ฟัน สามารถทยอยไปเข้ารับบริการที่หน่วยบริการ อย่างไรก็ตามขอชี้แจงว่าไม่ใช่ทุกคนจะทำรากฟันเทียมได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะกระดูกขากรรไกร ความพรุน ความหนา บาง รวมถึงภาวะเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบผู้ป่วยได้ โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอีกครั้ง


        “ฟันจะอยู่กับเราได้ไปตลอดชีวิตหากรักษาให้ดี แต่โรคในช่องปากมักไม่มีอาการในระยะแรกๆ ดังนั้นควรเข้ารับบริการตรวจช่องปากปีละ 1 ครั้ง เมื่อพบรอยโรคก็จะได้รีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ถูกถอนฟัน แต่ถ้าสุดท้าย จำเป็นต้องถอนฟันและไม่เหลือฟันพอที่จะเคี้ยวอาหารได้ก็สามารถเข้ารับบริการโครงการนี้ได้ ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมากและเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้งประเทศ” ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าว