"สื่อ" ในสมัยที่ยังมีไม่หลากหลาย ต้องนำเสนอภายใต้การควบคุมเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันในยุคแห่งโลกไร้พรมแดนที่ท่วมท้นด้วยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทุกคนเป็นได้ทั้ง "ผู้เสพสื่อ" และ "ผู้สร้างสื่อ" ปัญหาคือ คนรุ่นใหม่ยังคงคลุมเครือว่าอะไรคือ "ขอบเขต"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์และนักกิจกรรมบำบัดประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงทัศนคติถึงทิศทางการเรียนรู้ของสังคมที่เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนเป็นไปในลักษณะของ "Edutainment" หรือ "เรียนปนเล่น" ซึ่งมาจากคำว่า "Education" บวกกับคำว่า "Entertainment" แต่ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงสู่สื่อออนไลน์ พบว่าการนำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นเพียงเพื่อความบันเทิง แต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถใช้ได้จริง ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ "สื่อสุขภาพ"
ซึ่งสื่อสุขภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเสนอโดย "กูรูผู้รู้จริง" เนื่องจากอาจส่งผลกระทบถึงชีวิตหาก "เสพ" และ "สร้าง" อย่างประมาท ซึ่งการนำเสนอที่สร้างสรรค์นั้นไม่จำเป็นต้องเน้นวิชาการ อาจเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเนื้อหาสาระที่ "เข้าถึงง่าย" และ "นำไปใช้ได้จริง" โดย "ตอบโจทย์" ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
จากประสบการณ์ด้านจิตสังคมบำบัดที่มีมาอย่างยาวนาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง ได้ค้นพบ "ศิลปะการสร้างตัวตนบนสังคมออนไลน์ที่ได้คุณภาพ" ว่า จะต้องมีการเพิ่มเติม "Receipt" ซึ่งจะทำให้ได้เนื้อหาที่ครบพร้อมทั้ง "อรรถรส" และ "คุณค่า"
หนึ่งใน Receipt ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง แนะนำ คือ การใช้เทคนิค "Parasocial interaction" หรือการนำเสนอ "ประสบการณ์กึ่งความจริง" ซึ่งเป็นการสร้างเนื้อหาแบบ "เจาะลึก" เพื่อให้ผู้เสพสื่อได้รับประโยชน์ในเวลาอันสั้น
สื่อสุขภาพในปัจจุบันส่วนใหญ่มีเนื้อหาเพื่อการดูแลสุขภาพแบบ "how to" ให้ได้ลองไปทำตามกันมากมาย แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีนักสร้างเนื้อหาไทยสนใจเจาะลึกเรื่อง "ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย" อย่างจริงจังกันมากเท่าใดนัก
ยังมีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบปัญหาภาวะซึมเศร้า ซึ่งการเสพสื่อที่ให้เพียงความบันเทิงอาจช่วยผ่อนคลายได้ในบางเวลา แต่ไม่ยั่งยืนเท่ากับการทำสื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ และได้เรียนรู้ที่จะป้องกัน และช่วยดูแล
และยังมี "คนไร้ที่พึ่ง" อีกมากมายที่รอคอยความช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากความรู้สึก "ไร้คนเหลียวแล" ขอเพียง "กำลังใจ" และ "พื้นที่ปลดปล่อยเสียงร้องไห้" จากการได้รับโอกาสให้บอกเล่าถึง "ความรู้สึกโดดเดี่ยวอันโหดร้าย" ที่อยู่ภายใน ให้สังคมได้รับรู้ และเกิดความเข้าใจ
ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 4 ของคนไทย ที่ได้เป็นตัวแทนของ "Micro Influencer" หรือ "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชี่ยวชาญเฉพาะทาง" เข้าร่วม "e-TRIGGER" (e TRaining In Gerontology and GERiatrics) เพื่อการดูแลผู้สูงวัยระดับทวีปเอเชีย พร้อมทั้งยังคงทำหน้าที่จิตอาสา "จิตสังคมบำบัด" ทางเพจ "โปรแกรมรักษาคนดี" โดยไม่หวังผลตอบแทนต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
โดยเชื่อว่าหากทุกคนช่วยกันเสพและสร้างสื่อสุขภาพด้วยความรับผิดชอบ จะทำให้สังคมดีขึ้น และประเทศชาติอยู่รอดต่อไปอย่างยั่งยืนได้อย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210