สธ. เผยแนวทางเฝ้าระวัง “โควิด” ในสถานศึกษา หลังเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง


กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวทางเฝ้าระวัง “โควิด 19” แพร่ระบาดในสถานศึกษา หลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำติดเชื้อไม่ต้องปิดเรียน จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม สถานศึกษาเน้นสะอาด ปลอดภัย ระบายอากาศให้ดี นักเรียน บุคลากรปฏิบัติตามสุขอนามัย ตรวจ ATK เมื่อเสี่ยง สังเกตอาการป่วยเป็นกลุ่มก้อน หากพบให้รายงานตามมาตรฐานผ่านออนไลน์อนามัยโรงเรียน


นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “โควิด 19 กับชีวิตเด็กๆ ในวัยเรียน” ว่า ภายหลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกโควิด 19 จากการเป็นโรคติดต่ออันตราย และกำหนดให้เป็น 1 ใน 57 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ได้มีการจัดระบบเฝ้าระวังโควิด 19 ใน 4 ส่วน คือ 1.การเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 2.การเฝ้าระวังการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ หากมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก ต้องมีระบบในการควบคุมและสอบสวนโรค 3.การเฝ้าระวังในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และ 4. การเฝ้าระวังเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19


นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในปัจจุบัน พบอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ซึ่งผู้เสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเฉลี่ย 6-10 รายต่อวัน ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือไม่ได้รับวัคซีน โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2565 พบผู้ติดเชื้ออายุระหว่าง 0-18 ปี มีจำนวนลงลดอย่างชัดเจน และมีอัตราการเสียชีวิตในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก ยังคงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในสถานศึกษาต่อเนื่อง โดยแนะนำการป้องกัน 3 ส่วน คือ 1.สถานศึกษา ให้ประกาศนโยบายมิติสุขภาพและคำแนะนำการป้องกันโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จัดสภาวะแวดล้อมของสถานศึกษาให้สะอาด ปลอดภัย มีสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล มีระบบการระบายอากาศที่ดี ประเมินความเสี่ยงตามความเหมาะสมหรือตามคำแนะนำของ สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด และส่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ ครู บุคลากร นักเรียนและผู้ปกครอง


2.นักเรียนและบุคลากร ต้องปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานเป็นกิจวัตร คือ ล้างมือ สวมหน้ากากในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ประเมินความเสี่ยงของตนเองด้วย Thai Save Thai ถ้าเสี่ยงสูง แนะนำตรวจ ATK หรือปรึกษาหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ และรับวัคซีน และ 3.การเฝ้าระวัง ให้สถานศึกษาตรวจคัดกรองสุขภาพนักเรียนตามมาตรฐานงานอนามัยโรงเรียน พร้อมกับเฝ้าระวังและสังเกตอาการป่วย หากมีการป่วยเป็นกลุ่มก้อน ให้ประสาน ปรึกษา และส่งต่อสถานพยาบาล และกำกับติดตามรายงานตามมาตรฐาน ผ่านออนไลน์อนามัยโรงเรียน


สำหรับข้อมูลการรับวัคซีนโควิด 19 ของนักเรียน วันที่ 3 ตุลาคม 2565 พบว่า กลุ่มอายุ 12-17 ปี ทั้งหมด 5,333,639 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 4,723,369 คน คิดเป็น 88.56% เข็มที่ 2 จำนวน 4,386,081 คน คิดเป็น 82.23% เข็มที่ 3 จำนวน 1,140,580 คน คิดเป็น 20.35% ส่วนอายุ 5-11 ปี ทั้งหมด 5,002,698 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 3,328,184 คน คิดเป็น 64.6% เข็มที่ 2 จำนวน 2,493,003 คน คิดเป็น 48.4% และเข็ม 3 จำนวน 56,807 คิดเป็น 1.1% ดังนั้น ยังคงมีความจำเป็นที่นักเรียนจะต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง


นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานศึกษาที่พบการติดเชื้อโควิด 19 ทั้งไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย นักเรียน ครู บุคลากรในสถานศึกษา ให้ปฏิบัติดังนี้ คือ จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม ไม่ต้องปิดเรียน ปฏิบัติตามหลักการ Universal Prevention เน้นมาตรการ 6-6-7 เข้มการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดทำกิจกรรมรวมกลุ่ม จัดพื้นที่ให้มีระบบระบายอากาศที่ดี และทำความห้องเรียน/ชั้นเรียน ส่วนกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 อาการปานกลางหรือรุนแรง ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาของ สธ. และติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่