กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ 2 ศาสตร์ การแพทย์แผนไทย และ การแพทย์แผนจีน ดูแลสุขภาพกาย ใจ คนวัยเกษียณ ให้มีสุขภาพแข็งแรงแบบองค์รวม
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้เกษียณซึ่งจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หลายคนยังปรับตัวไม่ทัน จึงอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจได้ ทางกรมจึงขอแนะนำ 2 ศาสตร์ การแพทย์แผนไทย และ การแพทย์แผนจีน ในการดูสุขภาพกายและใจของผู้เกษียณแบบ องค์รวม ทางด้านศาสตร์การแพทย์แผนไทย ขอแนะนำสมุนไพรที่เหมาะสำหรับผู้เกษียณ และ ผู้สูงวัย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ผู้ป่วย แต่ก็อาจจะมีอาการต่างๆ ที่มักจะเกิดขึ้น เช่น อาการอ่อนเพลีย วิงเวียน เหนื่อยล้า ปวดเมื่อย ไม่สดชื่น กินอาหารไม่อร่อย นอนไม่หลับ จึงขอแนะนำสมุนไพรคู่ใจวัยเกษียณ 3 กลุ่ม โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มแรกเป็นตำรับยาหอมไทย ประกอบด้วย กลุ่มยาหอมรสสุขุมร้อน ช่วยในการขับลม ในระบบทางเดินอาหาร แก้ลมจุกเสียดอาเจียน ได้แก่ ยาหอมอินทจักร์ และยาหอมนวโกฐ กลุ่มยาหอมรสสุขุมเย็น แก้อาการวิงเวียน อ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย ได้แก่ ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเทพจิตร และยาหอมแก้ลมวิงเวียน กลุ่มที่ 2 สมุนไพรบำรุงสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ ได้แก่ บัวบก พรมมิ ขมิ้นชัน กลีบบัวแดง และ กลุ่มที่ 3 เมนูอาหารและเครื่องดื่มบำรุงสมอง บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุลม สำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ แกงขี้เหล็ก แกงเลียง น้ำพริกปลาทู สะเดาน้ำปลาหวาน เมี่ยงคำ ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน และ ปลานึ่งมะนาว เป็นต้น สำหรับ เครื่องดื่ม ได้แก่ เต้าหู้นมสด ช่วยสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง บัวลอยน้ำขิง ขยายทางเดินเลือดลม ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง เฉาก๊วย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ นมถั่วเหลือง ลดโคเลสเตอรอล ลดไขมัน ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน และ โรคหลอดเลือดหัวใจ และ ชาเกสรดอกไม้ บำรุงหัวใจ ช่วยกระตุ้นให้หัวใจ ชุ่มชื่น
สำหรับ ผู้เกษียณที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคยอดฮิต เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และ โรคหัวใจ ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอย่างยิ่ง ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย โรคความดันโลหิตสูง ควรรับประทานอาหารที่ช่วยคุมความดันโลหิต เช่น เนื้อปลา ไข่ ผักผลไม้ อาหารแคลเซียมสูง รวมถึงสมุนไพรบางชนิดที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น กระเจี๊ยบแดง หญ้าหนวดแมว บัวบก ใบเตย ตะไคร้ โรคเบาหวาน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยเน้นใช้พืชผักสมุนไพรพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดมาปรุงเป็นอาหาร ได้แก่ มะระขี้นก ผักเชียงดา กะเพรา ชะพลู ตำลึง สำหรับเมนูอาหารที่แนะนำ เช่น ต้มจืดมะระขี้นก ยำมะระขี้นก มะระขี้นกผัดไข่ แกงเผ็ดมะระขี้นก มะระขี้นกลวกจิ้มน้ำพริก โรคไขมันในเลือดสูง แนะนำสมุนไพรใกล้ตัว ที่หาได้ในครัวเรือน แต่สรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยง ของการเกิดโรคหัวใจ นั่นคือ กระเทียม สรรพคุณ ช่วยลดระดับไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและลดความเสี่ยงของ การเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ตำรับตรีผลา ช่วยลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการดูแลสุขภาพผู้เกษียณและผู้สูงอายุด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน ตามหลักการของศาสตร์การแพทย์แผนจีน จะใช้วิธีการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม โดยดูแลทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะจะเน้นเรื่อง การรับประทานอาหาร ซึ่งผู้สูงวัยมักมีลมปราณและอวัยวะภายในที่อ่อนแอ ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม เช่น ทานอาหาร ให้หลากหลาย ทานอาหารรสอ่อนหรือจืด เช่น ปลา ถั่ว ผักผลไม้สด และควรเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน ทานอาหารปรุงสุกที่ทำสดใหม่ ทานอาหาร ให้อิ่มพอดี การใช้ชีวิตประจำวันอย่างรอบคอบ เพราะผู้สูงวัยมีลมปราณและเลือดไม่เพียงพอ ลมปราณคุ้มกันพร่อง ดังนั้นผู้สูงวัยไม่ควรเครียด ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สวมเสื้อผ้าเหมาะสมกับสภาพอากาศ ทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและจิตใจ และรักษาสุขอนามัยให้ดี และควรออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างร่างกายและจิตใจ ดังนั้นจึงต้องออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด การออกกำลังกายควรเป็น รูปแบบช้า ๆ เช่น รำมวยไทเก๊ก ชี่กง ว่ายน้ำ เดินเบาๆ ควรออกกำลังกายทุกวัน วันละ 1 - 2 ครั้ง ครั้งละ 30 – 60 นาที ช่วงเช้าตรู่หรือช่วงหลังรับประทานอาหารเย็นแล้ว 1 ชั่วโมง 30 นาที ท่านก็จะมีสุขภาพกายและใจที่ดีหลังชีวิตวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ สามารถสอบถามข้อมูลกับแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศได้ หรือสามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊กhttps://www.facebook.com/dtam.moph