เทศบาลตำบลหัวเวียง อยุธยา ใช้งบ กปท.จัดระบบบริการ ส่งยา-เวชภัณฑ์ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่น้ำท่วม

เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ไปยัง ต.หัวเวียง จ.พระนครศรีอยุธยา เยี่ยมชมโครงการจัดระบบบริการสุขภาพ ส่งยา-เวชภัณฑ์ ผ่านงบ กปท. โดย เทศบาลตำบลหัวเวียง พร้อมทั้งการสนับสนุนจากไปรษณีย์ไทยในการส่งน้ำยาล้างไต เพื่อให้ผู้ป่วยที่ประสบภัยน้ำท่วมได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. นพ.ณรงค์ ถวิลวิสาร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอยุธยา นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี  นายพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท. ดบ.)และ นายบรรจบ พัวรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ไปยัง ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเยี่ยมชม ‘โครงการสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมกรณีโรคระบาดและภัยพิบัติพื้นที่’ ที่ดำเนินการโดยเทศบาลตำบลหัวเวียง ผ่านงบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เพื่อจัดระบบบริการสุขภาพ รวมถึงส่งยาและเวชภัณฑ์ ให้กับผู้ป่วยในพื้นที่อุทกภัย นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการจัดส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังใน ต.หัวเวียง จากความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย โดยมี นายธเนศ สนธิ นายกเทศมนตรีตำบลหัวเวียง นายเกียรติศักดิ์ ชั้วทอง สาธารณสุขอำเภอเสนา และทีมโรงพยาบาลเสนา พร้อมคณะ รพ.สต.หัวเวียง ให้การต้อนรับ

นายธเนศ สนธิ นายกเทศมนตรีตำบลหัวเวียง กล่าวว่า เทศบาลตำบลหัวเวียงมีพื้นที่อยู่ในความดูแลจำนวน 22.24 ตร.กม. ประกอบด้วย 2 ตำบล คือ ต.หัวเวียง และ ต.บ้านกระทุ่ม มีประชากรทั้งหมด 5,889 คน มีผู้ป่วยติดเตียงจำนวน 24 ราย และผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 2 ราย นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ทุกปี เนื่องจากพื้นที่มีความลุ่มต่ำ เมื่อมีการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพียง 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ใน ต.หัวเวียง น้ำจะเริ่มท่วมบ้านเรือนแล้ว ซึ่งขณะนี้มีการระบายอยู่ที่ 1,359 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำตอนนี้จึงเทียบเท่าได้กับเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554


นายกเทศมนตรีตำบลหัวเวียง กล่าวต่อไปว่า ทางเทศบาลจึงได้มีการเตรียมแผนรับมือในทุกปี และหนึ่งในนั้นคือด้านสาธารณสุข ซึ่งได้ใช้ กปท. เพื่อเสริมในการจัดบริการ โดยในปีนี้ได้รับการจัดสรรจากงบ กปท. จำนวน 5 แสนบาท ซึ่งได้ร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1. ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลตำบลหัวเวียง 2. รพ.สต.หัวเวียง และ 3. รพ.สต.บ้านกระทุ่ม รวมถึง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั้ง 23 หมู่บ้าน ในการเข้าไปดูแล และให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนที่ประสบภัย


“นอกจากการจัดบริการ ส่งเวชภัณฑ์ น้ำยาล้างไต และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยแล้ว เวลาเราลงพื้นที่ยังมีการ เข้าไปพูดคุยสร้างขวัญกำลังใจ รวมถึงจัดส่งสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เพื่อลดความเครียดให้กับพี่น้องประชาชน” นายธเนศ กล่าว


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โดยหลักของ กปท. แล้วเป็นงบประมาณส่วนหนึ่งของ สปสช. ที่สมทบร่วมกับงบประมาณของท้องถิ่นในการแก้ปัญหาหรือส่งเสริมดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างอุทกภัย เพราะบางพื้นที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณสำหรับเดินทาง หรือนำผู้ป่วยมารักษา ตลอดจนยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้นในพื้นที่ ต.หัวเวียง นี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างให้กับท้องถิ่นอื่นๆ ในการใช้งบ กปท. เพื่อดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน


นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในภาวะการณ์วิกฤตน้ำท่วม ส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้ป่วยที่ต้องล้างไตที่บ้าน และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ต้องเรียนว่าประชาชนในบางพื้นที่น้ำยาล้างไตที่ได้รับไปก่อนน้ำท่วมอาจได้รับความเสียหายจากระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากไม่ได้ล้างไตเพียง 2-3 วัน จะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ ทาง สปสช. จึงได้ร่วมกับไปรษณีย์ไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในจัดส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง


“รวมถึงช่วงภาวะน้ำท่วมหากพี่น้องประชาชนจะต้องไปรับบริการรักษาพยาบาล และพบว่าโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการใกล้บ้านน้ำท่วม ขอให้ไม่ต้องกังวล ท่านสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ โดยค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ทาง สปสช. จะเป็นผู้ดูแลให้ จึงอยากขอประชาสัมพันธ์หน่วยบริการต่างๆ ด้วยว่า ภาวะน้ำท่วมถือเป็นภาวะฉุกเฉิน สามารถเบิกเงินเพิ่มเติมจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เลย” เลขาธิการ สปสช. ระบุ

ด้าน นายพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท. ดบ.) กล่าวว่า การจัดส่งน้ำยาล้างไตในช่วงน้ำท่วม ทางไปรษณีย์ไทยได้มีการประสานกับ สปสช. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และโรงพยาบาลที่ทำการดูแลผู้ป่วย เพื่อทำการประเมินตั้งแต่ต้นว่าหากพื้นที่ไหนมีความสุ่มเสี่ยงจะเร่งการจัดส่งน้ำยาล้างไตไปให้ผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด ส่วนในกรณีที่พื้นที่อยู่ในภาวะน้ำท่วมแล้วเช่นที่ ต.หัวเวียง ที่มาดูในวันนี้ จะมีการใช้ฟิล์มยืดห่อกล่องน้ำยาล้างไตเพื่อป้องกันความเสียหายจากการโดนน้ำซึมเข้า จากนั้นจะจัดหาเรือเพื่อส่งไปให้ผู้ป่วยถึงที่อยู่อาศัยของประชาชน


นายพีระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการจัดส่งน้ำยาล้างไตให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เป็นอีกหนึ่งในบริการด้าน healthcare solution ของ ไปรษณีย์ไทย ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในสิทธิบัตรทองทั่วประเทศ ซึ่งได้ร่วมกับ สปสช. และ อภ. มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รับบริการแล้วกว่า 3 หมื่นรายต่อเดือน และทางไปรษณีย์ไทยได้ดำเนินการจัดส่งน้ำยาล้างไตและอุปกรณ์แล้วประมาณ 3 ล้านถุงต่อเดือน หรือกว่า 36 ล้านถุงต่อปี