อธิบดีกรม สบส.มอบนโยบายปี 2566 เน้นพัฒนางานสาธารณสุข 8 ด้าน มุ่งสร้างสุขภาพดีให้คนไทยอย่างยั่งยืน

www.medi.co.th

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) มอบนโยบายการดำเนินงานกรมสนับสนุนบริการสุขภาพประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แก่คณะผู้บริหาร และบุคลากร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มุ่งเน้นการพัฒนางานด้านสาธารณสุข ใน 8 ด้าน สร้างสุขภาพดีให้ประชาชนไทยอย่างยั่งยืน


นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรม สบส.จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ซึ่งในปี พ.ศ.2565 ที่กรม สบส.มีอายุครบ 20 ปีในฐานะที่กรม สบส.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ และระบบสุขภาพภาคประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตนจึงวางนโยบายการดำเนินงานให้บุคลากร ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ให้เกิดการพัฒนางานด้านสาธารณสุขอย่างครอบคลุมใน 8 ด้าน ประกอบด้วย1.การพัฒนางานตามแนวพระราชดำริและเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งกรม สบส.มีการบูรณาการร่วมกับแต่ละภาคส่วนในการดูแลด้านโครงสร้างอาคาร “สุขศาลาพระราชทาน”เพื่อสนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชปณิธานให้พสกนิกรได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี 2.การสื่อสาร สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน ซึ่งกองสุขศึกษา จะต้องพัฒนารูปแบบการสื่อสารให้ทันต่อยุคสมัยเข้าถึงคนรุ่นใหม่ผ่านสื่อโซเชียล ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง 3.เสริมสร้างศักยภาพการแพทย์ปฐมภูมิ โดยสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในฐานะหมอคนที่ 1 ให้เป็นสมาร์ทอสม. ร่วมกับการนำพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 มาส่งเสริมการทำงานของหมอคนที่ 2 และ 3


4.คุ้มครองผู้บริโภคจากการรับบริการสุขภาพ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลมีการจัดตั้งสถานพยาบาลที่มีคุณภาพ มีการนำE Submission ระบบการอนุญาตผ่านอินเทอร์เน็ต มีการจัดทำฐานข้อมูลสถานพยาบาลที่เชื่อมโยงกันทั่วประเทศสามารถตรวจสอบความถูกต้องของสถานพยาบาลได้ 5.พัฒนานวัตกรรมบริการทางการแพทย์ พัฒนาการสอบเทียบ และรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ให้กรม สบส.เป็นศูนย์ในการตรวจรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีแก่ประชาชน 6.ยกระดับการออกแบบโรงพยาบาลให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ลดข้อผิดพลาดมีความเป็นมิตรต่อผู้รับบริการ (User Friendly) มีโครงสร้างที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้บริการ 7.เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสุขภาพผ่านการให้บริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เร่งพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพทั้ง สปาWellness และ Medical Hub รองรับการเปิดประเทศ ดึงศักยภาพของสถานพยาบาลเอกชนในการพัฒนาประเทศสู่ศูนย์กลางสุขภาพ และ 8.พัฒนาองค์กรสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Department)


ทั้งนี้ นโยบายข้างต้นจะนำไปสู่การพัฒนาหน่วยงาน บุคลากรเกิดความภาคภูมิใจในการให้บริการ และสนับสนุนงานวิชาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนางานด้านสาธารณสุขของประเทศ สร้างสุขภาพดีให้ประชาชนไทยอย่างยั่งยืน