เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งานลงพื้นที่การบริหารจัดการมลพิษทางสิ่งแวดล้อม (มลพิษทางอากาศ มลพิษจากขยะมูลฝอย) ณ จ.ขอนแก่น
เราต่างทราบกันดีว่าฝุ่น PM2.5 หากเข้าไปสะสมในปอด แทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปทั่วร่างกาย อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ต้นตอของปัญหาก็มาจากการเผาไร่นา ทำการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย เมื่อหลีกเลี่ยงจากปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นไม่ได้ ก็จะต้องตั้งรับ เตรียมความพร้อม และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด เพื่อคืนอากาศที่สะอาดและปลอดภัยให้กับสังคม
เชื่อว่ามาถึงตรงนี้หลายคนต้องตั้งคำถามว่า “แล้วจะทำอย่างไร ถึงจะรับมือกับฝุ่น PM2.5 ได้” เมื่อเรารู้สาเหตุที่มาของปัญหาแล้ว การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้ทราบถึงพิษภัยของฝุ่น PM2.5 ว่าผลเสียมีอะไรบ้างที่จะตามมา ซึ่งโครงการนี้มีชื่อว่า “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เป็นโครงการที่บูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการพัฒนาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ชุมชน โดยมีกลไลการทำงานผ่านโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่วิกฤต และโครงการนี้ก็ได้เริ่มต้นที่พื้นที่ภาคเหนือจนประสบความสำเร็จและสามารถขยายโรงเรียนและพื้นที่ต้นแบบได้หลายแห่ง เรียกได้ว่าภาคีเครือข่ายการทำงานห้องเรียนสู้ฝุ่นภาคเหนือนั้นมีความเข้มแข็งแล้วในระดับที่ดี จึงนำบทเรียนและความรู้ที่ได้มาขยายผลต่อในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเริ่มที่จังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี
ทำไมถึงต้องเป็นขอนแก่น-อุดรธานี เพราะเป็นจังหวัดที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในไทย เมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อยก็ต้องใช้การเผาเป็นหลัก นโยบายต่าง ๆ ของจังหวัดที่ออกประกาศห้ามเผานั้นใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้น สสส. และภาคีเครือข่ายทำงานด้านสุขภาพเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ดำเนินโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ซึ่งเป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ที่จะทำให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชน ร่วมรับมือกับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดการเผาอย่างถูกวิธี มาสู่จังหวัดขอนแก่น-อุดรธานี สร้างพลเมืองให้สามารถสื่อสารสร้างความตระหนักรู้แก่คนในชุมชนถึงผลกระทบต่อสุขภาวะจากฝุ่น PM 2.5 และตั้งเป้าขยายโครงการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานของไทยต่อไป
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. พูดถึงการขยายโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นมาสู่จังหวัดขอนแก่นและอุดรธานีในครั้งว่า “สสส. ทำหน้าที่จุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลัง พัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระดับท้องที่ โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นเป็นโมเดลต้นแบบที่ สสส. และคณะทำงานต้องการพัฒนา ขับเคลื่อนและขยายผลไปให้ได้ครอบคลุมทุกจังหวัดโดยใช้กลไกสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องผ่านโรงเรียน บูรณาการร่วมกับการเรียนการสอน เพื่อให้แต่ละพื้นที่มีโมเดลรับมือกับวิกฤติฝุ่นได้อย่างรู้เท่าทันผ่านนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ สร้างพลเมืองตื่นรู้ถึงพิษภัยของฝุ่น PM2.5”
การเลือกพื้นที่จังหวัดขอนแก่น-และอุดรธานี เป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นของภาคอีสาน เพราะพื้นที่ของ 2 จังหวัดนี้ทำไร่อ้อยเป็นหลัก เมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวก็จะมีปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากควันในการเผาเป็นจำนวนมากและเกินมาตรฐานของอากาศที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ผศ.ดร.นิอร สิริมลคลเลิศกุล ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล ที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น สสส. เล่าถึงจุดเริ่มต้นการขยายโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นสู่ภาคอีสานในครั้งนี้
ดร.นิอร เล่าต่อว่า “การขยายโครงการมาสู่โรงเรียนต้นแบบในจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมอากาศสะอาดในภาคอีสาน ซึ่งเป็นภาคที่มีพื้นที่ครอบคลุมหลายจังหวัดและมีจำนวนประชากรที่เยอะที่สุด การขยายโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นสู่ภาคอีสานในครั้งนี้ เราได้พัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพในการวัดค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ มีชื่อว่า BLUESCHOOL เป็นแอปพลิเคชันอ่านค่าฝุ่น และแจ้งเตือนเมื่อค่าฝุ่นอยู่ในสถานการณ์วิกฤต และให้ความรู้ในการป้องกัน รับมือกับฝุ่น PM2.5 กับนักเรียน นำความรู้ในการป้องกันและลดฝุ่น PM2.5 ส่งต่อไปยังผู้ปกครองและชุมชน”
แอปพลิเคชั่น BLUESCHOOL นวัตกรรมวัดค่าฝุ่น มีวิธีอ่านค่าฝุ่น PM2.5 ผ่านอิโมจิอารมณ์และสี
สีฟ้า อิโมจิหน้ายิ้ม หมายถึง ค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ระหว่าง 0.25 สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ปกติ
สีเหลือง อิโมจิหน้าเฉย หมายถึง ค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ระหว่าง 38-50 ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง
สีแดง อิโมจิหน้าบึ้ง หมายถึง ค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 91 ขึ้นไป งดกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกัน และอยู่ในห้องที่ปลอดภัย
มาร่วมกันปักหมุด ลดฝุ่น PM2.5 ไปด้วยกันกับแอปพลิเคชัน BLUESCHOOL สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสแกน QR Code จากภาพด้านล่างนี้ได้เลย
สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและประชาสังคม ขับเคลื่อนโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นสู่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ภาคอีสาน มุ่งพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพและสอดรับกับบริบทของพื้นที่ สร้างความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างถูกวิธีผ่านนวัตกรรมวัดค่าฝุ่น BLUESCHOOL เตรียมความพร้อมและรับมือ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีอากาศหายใจที่บริสุทธิ์อย่างยั่งยืน