“Homeless ไม่ Hopeless” ความหวัง พลังใจ เติมเต็มชีวิตคนไร้บ้าน

www.medi.co.th

 


เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก เวทีเสวนา Homeless ไม่ Hopeless : เสียงสะท้อน ความหวัง อนาคต และชีวิตในภาวะไร้บ้าน

 


          คนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนเปราะบางในสังคม ซึ่งด้อยโอกาสและขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย​ การเข้าถึงแหล่งงาน การเข้ารับบริการทางสาธารณสุข และสิทธิสวัสดิการด้านอื่น ๆ ที่พวกเขาควรจะได้รับ


          ด้วยเหตุนี้ ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักพัฒนาสังคม และภาคีเครือข่าย จัดงาน “Homeless Day 2022: คน = คน” พร้อมเวทีเสวนา “Homeless ไม่ Hopeless: เสียงสะท้อน ความหวัง อนาคต และชีวิตในภาวะไร้บ้าน” เพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้าน ให้กลับมามีที่ยืนในสังคม


          “คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือสังคมหรือเมืองที่ทำให้คนรู้สึกว่าไม่น่าอยู่พอ ไม่สามารถทำให้คนมีสวัสดิการหรือสิทธิที่เพียงพอ เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีบ้านร้างตึกร้างมากมาย แต่ก็ยังมีคนไร้บ้าน และสถานการณ์ที่มีอาหารเหลือทิ้ง แต่บางคนกลับไม่มีอาหารกิน ผู้ประกอบการขาดแคลนแรงงาน แต่เราก็ยังมีคนว่างงานและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานได้” เป็นมุมมองของ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร


          นายศานนท์ อธิบายว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นหน้าที่ของ กทม. ที่จะต้องร่วมบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อกกฎหมายบางอย่าง รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการสร้างความเข้าใจกับสังคมว่า​ คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่สังคมต่างหากที่สร้างปัญหาบางอย่างทำให้เกิดคนไร้บ้าน ซึ่งเราต้องร่วมมือช่วยกันมากกว่านี้โดยในส่วนของ กทม. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเรื่องสวัสดิการ​ ทั้งเรื่องของการหางาน สาธารณสุข​ และเรื่องของที่อยู่อาศัย​


          “จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อคนเปราะบางในเขตเมืองเป็นอย่างมาก ทั้งภาวะตกงาน การขาดความมั่นคงทางรายได้ ส่งผลให้จำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% หรือ จาก 1,300 กว่าคน เป็น 1,800 กว่าคน และในภาพรวมเป็น 4,000 คน คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมาก” เป็นข้อมูลจาก นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.


          นางภรณี บอกว่า  ที่ผ่านมา สสส. ได้พัฒนานวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉิน บนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน หรือโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ในรูปแบบแชร์ค่าเช่าขึ้นมาร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อหนุนเสริมคนที่ยากลำบาก แก้ปัญหาจำนวนคนไร้บ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


          “สสส. ขอเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมพัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัย จุดบริการอาหาร เพื่อพัฒนาสุขภาวะคนไร้บ้าน ให้สามารถตั้งหลักชีวิตได้ และทาง สสส. ยินดีเป็นหน่วยงานให้เกิดการแลกเปลี่ยน การพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน” นางภรณี กล่าว


            ด้าน นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เล่าว่า เมื่อเราส่งคนไร้บ้านกลับบ้าน หรือกลับคืนสู่สังคมแล้ว หลายครั้งพบว่าไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ เราจึงต้องทำให้เกิดระบบการช่วยเหลือดูแล โดยมีปัจจัยดังนี้



  1. คนไร้บ้านต้องพร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง ไม่รอคอยความช่วยเหลืออย่างเดียว

  2. สร้างให้เกิดระบบหรือช่องทางในการดูแล ช่วยเหลือ ให้กำลังใจคนไร้บ้าน โดยชุมชนท้องถิ่น

  3. ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน

  4. สร้างระบบสวัสดิการในอนาคต เพราะไม่ว่าใครต่างก็มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนไร้บ้านได้


          ปัญหาคนไร้บ้านนับเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สสส. พร้อมร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน ให้ได้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม