สปสช. ลงพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี เยี่ยมชมการใช้เทคโนโลยีดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง Smart Safety-Smart Health เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินโดยการจับการเคลื่อนไหว-GPS สามารถนำตัวผู้สูงอายุ ผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ภายใน 6 นาที พร้อมจัดเก็บข้อมูลสุขภาพขึ้นระบบคลาวด์ ช่วยการรักษาต่อเนื่อง-วิเคราะห์ปัญหาที่ต้องดูแลเพิ่มเติม
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และ นพ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 6 ระยอง พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมรับฟังบรรยายการสรุปกิจกรรม โดยใช้เทคโนโลยีผ่าน Smart Safety และ Smart Health เข้ามาดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเพื่อเป็นการป้องกันเหตุฉุกเฉิน ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จอย่างมาก ณ เทศบาลเมืองแสนสุข อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี โดยมี นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข และคณะให้การต้อนรับ
นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข เปิดเผยว่า สำหรับเทศบาลเมืองแสนสุขมีการลงพื้นที่เพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น มีการเก็บสถิติข้อมูล และพบว่าประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองแสนสุขมีการดูแลรักษาสุขภาพได้ไม่ดีเท่าที่ควร จากเดิมที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) กลายเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงค่อนข้างมาก จึงนำไปสู่การหาวิธีที่จะเข้ามาแก้ไขในส่วนนี้ เพื่อพยายามให้ประชาชนที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองแสนสุขดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระยะของการเจ็บป่วยที่ต้องใช้งบประมาณในการรักษาที่สูงให้ช้าที่สุด
จึงได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งในปี 2554 ก็มีการพัฒนาเป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายรีโมทซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้สูงมากเข้ามาลดความเสี่ยงในการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ แต่ก็ติดปัญหาเรื่องข้อจำกัดของระยะสัญญาณจนมีการพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ได้มีการนำระบบ GPS เข้ามาใช้ โดยอุปกรณ์ที่สามารถสวมใส่ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมือ หรือคล้องคอ และขยายระยะทางด้วยการใส่ซิมการ์ดแทนทำให้สัญญาณไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในบ้านของผู้ป่วยเท่านั้น
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า สำหรับอุปกรณ์ดังกล่าวหากเกิดจะมีการจับสัญญาณการเคลื่อนไหว หากมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือผู้ป่วยเกิดหมดสติโดยไม่รู้ตัว อุปกรณ์ดังกล่าวก็จะส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองแสนสุข โดยจะขึ้นพิกัดบ้านของกลุ่มเป้าหมายและจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปเพื่อนำตัวผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุส่งโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการทำระบบ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล หากมีการเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่ ทั้งพยาบาล Care Giver (CG) ซึ่งเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไม่สามารถตอบคำถามได้ก็จะมีการโทรปรึกษาแพทย์ผ่านระบบดังกล่าวได้เลยว่าอาการแบบนี้จำเป็นต้องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นการรักษาได้อีกหนึ่งระดับเพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยหนักของกลุ่มเป้าหมาย
“สปสช.เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณที่ร่วมสมทบกับเทศบาลในการจัดตั้งเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งการดำเนินการส่วนนี้เป็นการจัดระบบการป้องกัน ซึ่งก็จะมีการให้ข้อมูล การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็จะไปต่อยอดในการที่อาจจะขยายไปใช้ในระบบอื่นในการป้องกันที่จะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันกับเทศบาลเมืองแสนสุขได้” นายณรงค์ชัย กล่าว
นางจิดาภา จุฑาภูวดล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการเทศบาลเมืองแสนสุข กล่าวว่า เทศบาลเมืองแสนสุขยังมีระบบ Smart Health ให้บริการสุขภาพในชุมชน โดยจะนำอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่านระบบบลูทูธบันทึกข้อมูลสุขภาพลงบนแพลตฟอร์มได้แบบ Real Time ช่วยลดขั้นตอนในการเก็บข้อมูลให้เป็นไปได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น รวมไปถึงมีการบันทึกข้อมูลขึ้นระบบคลาวด์เพื่อที่จะให้บริการต่อเนื่องที่โรงพยาบาลได้ รวมไปถึงยังใช้เพื่อการวางแผนจัดบริการปัญหาที่พบเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าจะต้องมีเพิ่มเติมในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยอย่างไรต่อไป
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เทศบาลเมืองแสนสุขสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้ตั้งแต่ปี 2554 จนปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้มีการนำมาปรับใช้เพื่อดูแลและรองรับใน 2 เรื่อง ได้แก่ การช่วยเหลือผู้สูงอายุเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่บ้านที่จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยนำส่งโรงพยาบาลได้ภายใน 6 นาที และการบันทึกข้อมูลสุขภาพเบื้องต้นของประชาชน ทั้งการบันทึกค่าน้ำตาล ความดัน ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ฯลฯ ซึ่งในอนาคตก็จะสามารถต่อยอดเรื่องการรักษาได้ รวมไปถึงแพทย์ที่จะทำการรักษาก็สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ระบบ Telemedicine เป็นส่วนที่ สปสช. สนับสนุนมาตั้งแต่การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการดูแลประชาชนโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม ทำให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องไปที่หน่วยบริการหรือคลินิก ซึ่งภายในเดือน ต.ค. นี้ ก็จะมีการขยายบริการดูแลผู้ป่วยโรคง่ายๆ ใน 42 กลุ่มโรคในบางพื้นที่ที่มีความพร้อม หากประชาชนพึงพอใจ ระบบทำได้ดี ไม่มีปัญหาก็จะมีการขยายต่อไปทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองแสนสุขได้มีการนำจิ๊กซอว์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระเบียบ ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ การสนับสนุนอุปกรณ์เข้ามาบูรณาการร่วมกัน ซึ่งก็ได้มีการทำสำเร็จแล้ว หากท้องถิ่นอื่นๆ ที่จะนำระบบดังกล่าวนี้ไปใช้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในพื้นที่ก็สามารถเข้ามาดูการทำงานของเทศบาลเมืองแสนสุขได้ และหากต้องการใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เข้าไปสนับสนุนก็สามารถดำเนินการได้เลย
“งบ กปท. เราจะมีวัตถุประสงค์ในการใช้นำไปใช้ในเรื่องสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยนำปัญหาในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ฉะนั้นงบ กปท. อาจจะไม่ใช่งบทั้งหมดที่ใช้แต่จะเป็นงบเสริมเข้ามาเพื่อทำให้การทำงานบางอย่างมีความคล่องตัวมากขึ้น ถ้าเราใช้งบได้ตามวัตถุประสงค์ตัวนี้ก็เหมือนเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่จะทำให้เกิดการจัดบริการในพื้นที่ได้สะดวกขึ้น” ทพ.อรรถพร ระบุ