โรชฯ แผนกธุรกิจเบาหวาน เปิดตัวแอปพลิเคชันดูแลเบาหวานเป็นครั้งแรกของโรชฯ ในประเทศไทย

www.medi.co.th

 


● ปัจจุบัน แอปพลิเคชันของโรชฯ มีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 3 ล้านรายทั่วโลก
● แอปพลิเคชันของโรชฯ คือหนึ่งในองค์ประกอบของระบบบริหารจัดการดูแลเบาหวานแบบครบวงจรของโรชฯ ช่วยให้ผู้มีภาวะเบาหวานสามารถดูแลภาวะดังกล่าวในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบาย
“บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด แผนกธุรกิจเบาหวาน” เปิดตัว แอปพลิเคชันดูแลเบาหวาน ในประเทศไทยซึ่งพร้อมให้บริการแล้ววันนี้ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ โดยผู้ใช้งานแอปฯ สามารถติดตามข้อมูลในการดูแลเบาหวานของตนเองได้แบบไร้สายบนสมาร์ทโฟน ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการแบบไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android) ช่วยให้การดูแลเบาหวานในแต่ละวันสะดวกยิ่งขึ้น และเมื่อนำมาผสานรวมกับระบบบริหารจัดการดูแลเบาหวานแบบครบวงจรของ โรชฯ แล้วแอปฯ ยังช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถแบ่งปันข้อมูลซึ่งผ่านการประมวลผลบนแอปพลิเคชันเพื่อส่งต่อให้กับแพทย์ผู้รักษาหรือผู้ดูแลได้ทันที
ข้อมูลสถิติล่าสุดอ้างอิงจาก IDF Diabetes Atlas ฉบับที่ 9 เผยประเทศไทยมีความชุกของภาวะเบาหวานในประชากรกลุ่มอายุ 20-79 ปี สูงถึง 8.3% และมีประชากรที่มีภาวะก่อนเบาหวานสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก แอปพลิเคชันของโรชฯ ช่วยให้ผู้มีภาวะเบาหวานสามารถรวบรวมข้อมูลการรักษาส่วนบุคคลได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายในที่เดียวด้วยการเชื่อมต่อแอปฯ กับเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลากหลายรุ่น และยังสามารถทำงานร่วมกับโซลูชันอื่นๆ อาทิ Apple Health เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ข้อมูลจากในแอปฯ ในการดูแลสุขภาพของตนเอง สำหรับคุณสมบัติหลักบางส่วนในการใช้งานแอปพลิเคชันดูแลเบาหวาน ได้แก่ หน้าจอบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล ประเมินค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Estimated HbA1c) วิเคราะห์ข้อมูลค่าน้ำตาลย้อนหลังได้ 7, 14, 30 และ 90 วันและการแปลผลค่าน้ำตาลแบบต่อเนื่องด้วยกราฟ
มร. มิไฮ อีริเมสซู (Mr.Mihai Irimescu) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) แผนกธุรกิจเบาหวาน กล่าวถึงความสำคัญในการเปิดตัวแอปพลิเคชันดูแลเบาหวาน ว่า “เรารู้สึกยินดีและมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำแอปพลิเคชันในการดูแลเบาหวานผ่านการบริหารจัดการข้อมูลมาสู่ประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้มีภาวะดังกล่าวสามารถดูแลตนเองได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นที่ทราบกันดีกว่า ‘ข้อมูล’ มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการดูแลภาวะเบาหวาน ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันดูแลเบาหวาน สามารถบริหารจัดการและดูแลตนเองในแต่ละวันได้สะดวกยิ่งขึ้น ผ่านคุณสมบัติต่างๆ ของแอปฯ ตลอดไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถใช้งานแอปฯ นี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนแนวทางในการรักษาได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การรวบรวมและจัดการข้อมูลเกี่ยวกับเบาหวานมักมีความยุ่งยากและต้องใช้เวลา ดังนั้นการเปิดตัวแอปพลิเคชันดูแลเบาหวาน ซึ่งพร้อมใช้งานในประเทศไทยแล้ววันนี้ จึงเป็นตัวช่วยที่ทำให้การดูแลภาวะเบาหวานเป็นเรื่องง่ายและสะดวก ผ่านการรวบรวมข้อมูลการรักษาที่เกี่ยวข้องไว้ในที่เดียว ด้วยการเชื่อมต่อกับเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การประมวลผล และการป้อนข้อมูลจากผู้ใช้งานโดยตรง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแอปพลิเคชันดูแลเบาหวาน จะช่วยให้ผู้ใช้งานในประเทศไทยสามารถบริหารจัดการดูแลภาวะเบาหวานได้ทุกที่ ทุกเวลา”


แอปพลิเคชันของโรชฯ ช่วยให้การดูแลเบาหวานกลายเป็นเรื่องง่าย
ผู้ใช้งานสามารถกรอกข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลการใช้อินซูลิน ค่าระดับน้ำตาลในเลือดปัจจุบันและค่าระดับน้ำตาลในเลือดเป้าหมาย ระดับความเครียด ข้อมูลการใช้ยา ปริมาณคาร์บ และกิจกรรมต่างๆ ที่ทำในแต่ละวันได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ แอปพลิเคชันดูแลเบาหวาน ยังมีคุณสมบัติการใช้งานอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานะการรักษาในปัจจุบัน และมีคาแรกเตอร์การ์ตูนที่ถูกออกแบบขึ้นมาสำหรับแอปฯ เท่านั้น จะช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกสนุกและเกิดความมุ่งมั่นตั้งใจในการรักษา นอกจากคุณสมบัติพื้นฐานของแอปพลิเคชัน ผู้ใช้งานที่เชื่อมต่อแอปพลิเคชันดูแลเบาหวาน กับเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแอคคิว-เช็ค (Accu-Chek) จะได้ใช้งานแอปพลิเคชันดูแลเบาหวาน PRO โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้สัมผัสประสบการณ์การใช้งานที่หลากหลาย อาทิ ประมวลผลค่าน้ำตาลพร้อมรายงานผลในรูปแบบ PDF และ Excel โดยสามารถส่งต่อข้อมูลดังกล่าวผ่านทางอีเมล ไลน์ และ SMS ให้แพทย์ผู้รักษาตลอดจนสมาชิกในครอบครัว บันทึกค่าน้ำตาลพร้อมรูปมื้ออาหาร ระบบการค้นหาเพื่อตรวจดูรูปแบบในการบริหารจัดการภาวะเบาหวานในแต่ละวัน


การเชื่อมต่อเข้ากับดิจิทัลแพลตฟอร์มของโรช ไดอะบี-ทีส แคร์ (RocheDiabetes Care Platform)
ผู้ใช้แอปพลิเคชันดูแลเบาหวานของโรชฯ จะสามารถเชื่อมต่อข้อมูลการใช้งานเข้ากับแพลตฟอร์ม RocheDiabetes Care ซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยของโรช ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลในเชิงลึกประกอบกับระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาเพื่อมีเป้าหมายหลักในการดูแลรักษาและอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยส่งเสริมวิธีการรักษาแบบองค์รวมที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษา โดยเน้นการจัดการภาวะเบาหวานเฉพาะบุคคลเป็นสำคัญ


แพลตฟอร์มดังกล่าวได้เปิดให้บริการในประเทศไทยมาตั้งแต่กลางปี 2563 โดยมีเป้าหมายหลักในการดูแลรักษาและอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
การเชื่อมต่อข้อมูลผู้ใช้ของแอปพลิเคชันดูแลเบาหวาน เข้ากับแพลตฟอร์ม RocheDiabetes Care จะช่วยให้ผู้มีภาวะเบาหวานสามารถส่งต่อข้อมูลที่บันทึกไว้ในแอปฯ ให้กับแพทย์ผู้รักษาได้ทันที ช่วยให้การปรึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการรักษาของทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างราบรื่น และสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาให้มีความเฉพาะตัวและเหมาะสมกับผู้มีภาวะเบาหวานในแต่ละราย
เกี่ยวกับแอปพลิเคชันดูแลเบาหวานของโรชฯ
แอปพลิเคชันดูแลเบาหวานของโรชฯ ได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2555 ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นำเสนอธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพผ่านดิจิทัลเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายในการบริหารจัดการดูแลเบาหวานให้กลายเป็นเรื่องง่าย แอปพลิเคชันดูแลเบาหวานของโรชฯ ช่วยให้ผู้มีภาวะเบาหวานสามารถใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติต่างๆ ในการใช้งานบนแอปพลิเคชัน ส่งผลให้การรักษาเป็นไปราบรื่น เป็นเสมือนตัวช่วยที่ทำให้การดูแลภาวะเบาหวานเป็นเรื่องง่ายและสะดวกรวดเร็ว ผ่านการรวบรวมข้อมูลการรักษาที่เกี่ยวข้องไว้ในที่เดียวด้วยการเชื่อมต่อกับเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การประมวลผล และการป้อนข้อมูลจากผู้ใช้งานโดยตรง แอปพลิเคชันดูแลเบาหวานของโรชฯ พร้อมใช้งานแล้ววันนี้ใน 79 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 24 ภาษา มีผู้ลงทะเบียนใช้งานแอปพลิเคชันกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก ใน App Store และ Google Play Store ทั้งนี้ฟีเจอร์ Logbook และ Bolus Calculator ในแอปพลิเคชันดูแลเบาหวานของโรชฯ ถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ในสหภาพยุโรป
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.rochediabetes.com

คำเตือน: สำหรับผู้มีภาวะเบาหวาน 1. ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เครื่องและไม่ควรใช้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดนี้ในการวินิจฉัยรักษาโรคหรือสั่งยาด้วยตนเอง 2. ก่อนใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ควรอ่านฉลากเอกสารกำกับเครื่องและปฏิบัติตามทุกครั้ง 3. หากมีปัญหาหรือต้องการทราบข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือด โปรดติดต่อแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ “อ่านคำเตือนในฉลากและเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้”