วงการแพทย์ไทยดังไกลระดับสากล “หมอเมธี” แพทย์ไทยผู้นำเทคนิค PSCD รักษาโรคกระดูกคอเสื่อมบรรยายสู่สายตาต่างชาติ

ความคาดหวังของวงการแพทย์ไทยที่อยากให้ประเทศไทยไปสู่ MEDICAL HUB อาจไม่ไกลเกินฝัน เมื่อในเวทีระดับโลกเรามักจะพบเห็นแพทย์ไทยในหลากหลายวงการได้เข้าร่วมวงเสวนา และได้รับเกียรติบรรยายเทคนิคใหม่ๆ สู่สายตาแพทย์ต่างชาติในหลายเวที


นพ.เมธี ภัคเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ  เป็นแพทย์ไทยอีกหนึ่งท่านที่น่าจับตามอง เพราะได้รับเกียรติให้ร่วมงานเสวนาวิชาการ The 4th ISMISS Asia-Japan combined with The14th MISS Summit Forum ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนงานวิจัยและประสบการณ์การรักษากระดูกสันหลังระดับโลก โดยงานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ผ่านประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังด้วยเทคโนโลยีการรักษาแบบ Endoscope จากสุดยอดศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังชื่อดังจากทั่วโลกที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน โดย นพ.เมธี เป็นหนึ่งในผู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอทับเส้นประสาทในหัวข้อ Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression/Discectomy (PSCD) พร้อมอธิบายเทคนิคการรักษาด้วยวิธีเจาะรูส่องกล้องเพื่อขยายช่องกระดูกสันหลังส่วนคอที่ตีบ และเทคนิคการนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกมา โดยไม่จำเป็นต้องทำการผ่าแผลขนาดใหญ่อีกต่อไป


นพ.เมธี ยังเปิดเผยว่าการรักษาด้วยเทคนิคนี้ทางโรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ได้นำมารักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังส่วนคอตั้งแต่ปี 2018 โดยมีผู้เข้ารับการรักษามากกว่า 200 ราย จึงทำให้มั่นใจได้ว่าการรักษาด้วยเทคนิค PSCD สามารถตอบโจทย์ของผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังส่วนคอได้   


เทคนิค PSCD (Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression)   คือ การรักษาด้วยการเจาะรูส่องกล้องบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ ทางด้านหลัง ด้วยเทคนิค PSCD ซึ่งเป็นเทคนิคที่โรงพยาบาลเอส สไปน์ฯ นำมาใช้ และถือเป็นรายแรกที่ทำการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอทางด้านหลัง  เพื่อขยายช่องกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยแพทย์จะนำกล้องเอ็นโดสโคปที่มีความละเอียดสูงเข้าไปในช่องว่างภายในกระดูกคอ เพื่อนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกมา สำหรับทางเลือกการรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก เพียง 0.5 เซนติเมตร  สูญเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว  นอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืนก็สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งต่างจากเทคนิคเดิมที่มีแผลขนาดใหญ่และต้องมีการเชื่อมกระดูก ทำให้คอหันได้ลำบาก  


นพ.เมธี ยังกล่าวอีกว่าเนื่องจาก PSCD (Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression)   ถือเป็นเทคนิคใหม่ที่นำมารักษาผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกคอเสื่อม  โดยต่างชาติเองก็ให้ความสนใจในเทคนิคนี้อย่างมาก ซึ่งในวงเสวนาดังกล่าว นพ.เมธีได้ยกตัวอย่างเคสที่ทำการรักษาด้วยเทคนิค PSCD เช่นเคสแรกคนไข้มาด้วยอาการหมอนรองกระดูกคอแตก ซึ่งโดยทั่วไปต้องเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอไปเลย และใส่หมอนรองกระดูกเข้าไปใหม่โดยเลาะเอาหมอนรองที่แตกออก  แต่ด้วยเทคนิค PSCD เราสามารถเจาะรูส่องกล้องเข้าไป และผ่าตัดนำเฉพาะหมอนรองที่แตกออกมาได้ โดยที่คนไข้ไม่ต้องเชื่อมข้อ    ส่วนเคสที่2 คนไข้มีอาการหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทคอโดยอยู่ตำแหน่งใกล้กับบริเวณไหปลาร้า การใช้เทคนิค PSCD ไม่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัดหมอนรองในตำแหน่งคอส่วนล่าง การส่องกล้องจากด้านหลังสามารถผ่าตัดบริเวณไหปลาร้าได้ แต่ถ้าเป็นในอดีตจะยุ่งยากและเสียเลือดเป็นจำนวนมาก  ซึ่งการผ่าตัดด้วยเทคนิค PSCD นี้จะทำให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดต้องใช้ความเชี่ยวชาญและชำนาญของแพทย์สูงมาก  


แม้ว่าเวทีนี้จะมีแพทย์ไทยหลายท่านได้รับเกียรติเข้าร่วมวงเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง แต่ส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังช่วงเอว แต่ นพ.เมธีเป็นแพทย์ไทยหนึ่งเดียวที่ได้บรรยายในหัวข้อเทคนิค PSCD (Percutaneous Stenoscopic Cervical Decompression) ทำให้ได้รับความสนใจจากต่างชาติเป็นอย่างมาก

นพ.เมธีกล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกคนที่เปิดใจและรับฟังเทคนิคใหม่เท่านั้นถึงจะได้รับประโยชน์ และไปพัฒนาเทคนิคการแพทย์ของประเทศตัวเองได้  ส่วนตัวเองนอกจากจะได้เผยแพร่ความรู้ให้ชาวต่างชาติแล้ว ในทางกลับกันยังได้ความรู้กลับมาเพื่อพัฒนาและต่อยอดเทคนิคการผ่าตัดได้อีก และแม้ว่าต่างชาติบางประเทศจะมีเทคนิคที่ใกล้เคียงกับเรา แต่สิ่งที่ต่างกันคือ แพทย์ไทยมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญและเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีที่เก่ง สำหรับ โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทแห่งแรกในประเทศไทย ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เรามุ่งมั่นเสาะแสวงหาเทคนิคที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดมาตอบโจทย์คนไข้เสมอ ที่ผ่านมาเราได้ติดตามงานวิชาการต่างๆ และเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อต่อยอดเทคนิคการรักษาที่ทันสมัยและดีที่สุด   


อย่างไรก็ตาม นพ.เมธี ยังให้ความเห็นว่า บริการทางการแพทย์ของไทย มีความพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมการเป็น Medical Hub สะท้อนจากความมีชื่อเสียงด้านคุณภาพการรักษาจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ซึ่งหากผนวกเข้ากับเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ จะยิ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นด้านคุณภาพการรักษาของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศที่มีวิทยาการด้านการแพทย์ชั้นนำอย่างอเมริกาและยุโรปแน่นอน