แนะนำ “สายด่วน สปสช. 1330” กดหมายเลขบริการ รับการดูแล สะดวก รวดเร็ว

www.medi.co.th

สปสช.พัฒนา “สายด่วน สปสช. 1330” แนะนำ “กดเลือกหมายเลขบริการ” ได้รับการดูแล มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เผยปี 2565 ประชาชนรับบริการเพิ่มสูงถึง 7.4 ล้านครั้ง จากสถานการณ์โควิด-19 ร่วมจัดระบบบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ระบุเป็นกลไกสำคัญกองทุนบัตรทอง ดูแลประชาชนเข้าถึงสิทธิบัตรทอง 30 บาท


ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “สายด่วน สปสช. 1330” เป็นกลไกสำคัญของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยจัดตั้งในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินงานกองทุนฯ เพื่อเป็นช่องทางให้ข้อมูลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประโยชน์และบริการต่างๆ รวมถึงเป็นช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา และการคุ้มครองสิทธิประชาชนให้เข้าถึงบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


ตลอดระยะเวลา 19 ปี สายด่วน สปสช. 1330 ได้ทำหน้าที่ช่องทางหลักในการดูแลประชาชนควบคู่กับช่องทางการสื่อสารอื่นๆ เช่น บริการผ่านระบบออนไลน์ อย่างไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso, Facebook สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้นนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้พัฒนาระบบเพื่อร่วมดูแลประชาชนที่ติดเชื้อให้เข้าถึงบริการ โดยข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 สายด่วน สปสช. 1330 ได้ให้บริการประชาชน เพิ่มมากขึ้น เป็น 2,585,915 ครั้ง (ในจำนวนนี้เป็นบริการโควิด-19 จำนวน 642,700 ครั้ง) จากปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 995,571 ครั้ง ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการ ทำให้ในปีนี้ สปสช. ได้ดำเนินการขยายบริการสายด่วน สปสช. 1330 ถึง 3,000 คู่สาย รวมถึงช่องทางบริการผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้เพียงพอต่อการบริการประชาชน


ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2565 (1 ต.ค. 64 - 30 ก.ย. 65) การให้บริการสายด่วน สปสช. 1330 ได้เพิ่มสูงขึ้น เป็น 7,386,316 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามข้อมูล 4,875,757 ครั้ง บริการเชิงรุก เช่น ติดตามอาการผู้ป่วยโควิด ติดตามตรวจ ATK บริการ HI/CI OPSI และติดตามการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นต้น 1,260,874 ครั้ง ประสานหาเตียง 499,876 ครั้ง ร้องทุกข์ 130,598 ครั้ง และร้องเรียน 19,085 ครั้ง  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มเติมบริการกรณีโควิด-19 ผ่านสายด่วน 1330 ตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ บริการจับคู่หน่วยบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สู่ระบบ Home Isolation, ระบบเสริมหน่วยบริการส่งยาโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้เข้าสู่การรักษา, บริการจองสิทธิฉีดวัคซีนโควิด-19, บริการชุดตรวจ ATK และบริการสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดสิทธิประกันสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ สปสช. ได้ขยายบริการอื่นๆ ที่เป็นการคุ้มครองสิทธิเพิ่มเติม   


ทั้งนี้ เพื่อให้การรับบริการสายด่วน สปสช. 1330 มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สปสช. ได้พัฒนาระบบและรายการบริการใหม่ โดยประชาชนสามารถโทรสายด่วน สปสช. 1330 กดเลือกหมายเลขตามรายการบริการ ดังนี้


กด 1 รับฟังข้อมูลหลักประกันสุขภาพทั่วไปด้วยเครื่องอัตโนมัติ


กด 2 ตรวจสอบสิทธิอัตโนมัติ


กด 3 หน่วย 50(5) /ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ


กด 4 สิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น


กด 6 แนะนำผู้ที่ได้รับผลกระทบกรณียกเลิกสัญญาฯ รพ.เอกชน 9 แห่ง


กด 8 จองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่


กด 11 โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมฯ


กด 13 จองสิทธิฉีดวัคซีนโควิด-19 พื้นที่ กทม.


กด 18 ประสานส่งต่อผู้ป่วย ร้องเรียน ร้องทุกข์


กด 67 บำบัดยาเสพติด


กด 0 ติดต่อเจ้าหน้าที่ สปสช.


ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า นอกจากนี้ สปสช.ยังมีช่องทางติดต่อสำหรับหน่วยบริการผ่านสายด่วน สปสช. 1330 กด 5 โดยให้บริการข้อมูลต่างๆ ดังนี้ กด 1 การชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ (โอนสายสอบถามวันจันทร์ -ศุกร์ เวลา 08:00-16:00 น.) กด 2 การใช้สิทธิกรณีเหตุสมควร และ กด 3 โปรแกรม/Web Site ทั้งนี้เพื่อเป็นการดูแลและแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับหน่วยบริการที่ร่วมบริการประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท


“การเข้าถึงสิทธิและบริการเป็นหัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำเป็นต้องมีกลไกที่เป็นสื่อกลางทำหน้าที่นี้ ทั้งการให้ข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ และแก้ปัญหา โดยขณะนี้ได้เพิ่มช่องทางกด 18 สำหรับผู้ที่ประสงค์หาโรงพยาบาลรับส่งต่อและรับเรื่องร้องเรียนและร้องทุกข์ นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดยังร่วมเป็นกลไกของรัฐบาลเพื่อร่วมแก้วิกฤติทำให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว