ปี 65 ส่งยาถึงบ้านให้ผู้ป่วยบัตรทอง กว่า 5.5 แสนครั้ง ส่วนใหญ่เป็นยาเบาหวาน ความดัน

สปสช.ต่อยอดบริการใหม่ช่วงวิกฤตโควิด-19 เดินหน้า “ส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์” เผย ปี 2565 จัดส่งยาให้ผู้ป่วย 5.5 แสนครั้ง ส่วนใหญ่เป็นยารักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เบาหวาน เอชไอวี หอบหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง มากที่สุด พร้อมเปิดข้อมูล รพ.สวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี รพ.พาน จ.เชียงราย รพ.เดิมบางนางบวช รพ.ชัยภูมิ และ รพ.สกลนคร ร่วมบริการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก พร้อมเดินหน้าหนุนบริการต่อเนื่อง รองรับการจัดบริการยุควิถีใหม่           


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บริการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ เป็นหนึ่งในนโยบายยกระดับ “การให้บริการรูปแบบวิถีชีวิตใหม่” (New Normal) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” โดยเกิดขึ้นในปี 2563 ช่วงเกิดวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อให้กับผู้ป่วยและลดการแพร่ระบาดของโรค โดย สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนดำเนินการ และร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการวางระบบจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ให้ถึงมือผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว พร้อมได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการ 


ทั้งนี้กว่า 2 ปี ที่ผ่านมา นโยบายเพื่อบริการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ปรากฏว่าได้รับการตอบรับด้วยดี ทั้งจากผู้ป่วยและหน่วยบริการเอง นอกจากลดเวลาการรอรับยาให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล รวมทั้งเป็นการวางระบบการให้บริการทางการแพทย์ในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่อย่างครบวงจร อย่างการจัดระบบบริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พร้อมการส่งยาและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับยาต่อเนื่อง


นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากการรายงานข้อมูลบริการผ่านระบบแดชบอร์ดของ สปสช. (NHSO Dashboard) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564–2565 ในช่วง 2 ปี มีโรงพยาบาลที่ร่วมบริการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ จำนวน 265 แห่ง มีผู้ป่วยรับบริการ 729,964 คน หรือเป็นจำนวน 1,249,415 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 62,445,356 บาท


ทั้งนี้เฉพาะข้อมูลในปีงบประมาณ 2565 ล่าสุด มีโรงพยาบาลที่ร่วมบริการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์จำนวน 219 แห่ง มีผู้ป่วยรับบริการจำนวน 291,305 คน หรือเป็นจำนวน 549,092 ครั้ง รวมเป็นงบประมาณจำนวน 27,429,776 บาท เมื่อแยกข้อมูลการบริการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ตามกลุ่มโรค 10 อันดับแรก ได้แก่ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 66,936 ราย เบาหวาน 35,555 ราย เอชไอวี 12,479 ราย หอบหืด 7,310 ราย ปอดอุดกั้นเรื้อรัง 5,568 ราย ต่อมลูกหมากโต 5,568 ราย สมาธิสั้น 4,499 ราย ลมชัก 4,281 ราย โรคหัวใจ 4,234 ราย  และจิตเวชเรื้อรัง 3,538 ราย


สำหรับ 5 จังหวัดที่ให้บริการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์มากที่สุด คือ จังหวัดเชียงราย 107,531 ราย, กรุงเทพ 104,614 ราย, สุราษฎร์ธานี 68,414 ราย, เชียงใหม่ 68,235 ราย และบุรีรัมย์ 49,559 ราย ส่วนโรงพยาบาลที่ร่วมบริการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์สูงสุด 5 อันดับแรก คือ รพ.สวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี 33,285 ครั้ง ดูแลผู้ป่วย 7,319 ราย, รพ.พาน จ.เชียงราย 30,001 ครั้ง ดูแลผู้ป่วย 14,610 ราย, รพ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี 18,845 ครั้ง ดูแลผู้ป่วย 6,638 ราย, รพ.ชัยภูมิ 17,589 ครั้ง ดูแลผู้ป่วย 8,165 ราย และ รพ.สกลนคร 17,101 ครั้ง ดูแลผู้ป่วย 7,140 ราย


ในปีงบประมาณ 2566 นี้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. ยังคงสนับสนุนการบริการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นบริการที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโดยตรง รองรับวิถีชีวิตใหม่ ในยุคที่การสื่อสารมีความก้าวหน้า รวมถึงระบบการขนส่ง ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกลที่เสียเวลาและค่าใช้จ่าย แต่สามารถเข้าถึงบริการ ได้รับการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน


“บริการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ แม้ว่าเป็นบริการฉุกเฉินที่เกิดในช่วงภาวะโรคระบาด แต่ด้วยประโยชน์ที่เกิดกับผู้ป่วย สปสช. จึงนำมาสู่การต่อยอดและพัฒนาระบบบริการที่ช่วยเพิ่มสะดวกในการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วย พร้อมรองรับการจัดระบบบริการที่สอดคล้องวิถีชีวิตใหม่ New Normal และด้วยจำนวนการรับบริการปีละกว่า 5 แสนครั้งต่อปี นั่นหมายถึงการช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางให้กับผู้ป่วย รวมถึงลดความแออัดในโรงพยาบาล” เลขาธิการ สปสช. กล่าว