นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้แทนกรมฯ เข้ารับรางวัลชุดข้อมูลยอดนิยม ประจําปีงบประมาณ 2565 “DIGI TOP DATA AWARDS 2022” ในงานมอบรางวัลให้กับหน่วยงานที่เปิดเผยชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 โครงการ DIGI DATA AWARDS 2022 ซึ่งจัดโดย สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยมี ดร.ชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีและมอบรางวัล
สำหรับงานมอบรางวัลให้กับหน่วยงานที่เปิดเผยชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ภายใต้แนวคิด “Data Driven Organization” โดยปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนดังกล่าวคือการเปิดเผยชุดข้อมูลที่ภาครัฐไว้จัดเก็บและรวบรวมไว้นำมาเผยแพร่ ให้กับประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้สะดวก รวดเร็ว ตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความมีส่วนร่วม ในการสร้างนวัตกรรมจากการใช้ข้อมูลภาครัฐให้เกิดประโยชน์ และต่อยอดนวัตกรรมบริการให้สอดคล้อง กับความต้องการของภาครัฐและภาคประชาชนในการใช้งานบริการรัฐบาลดิจิทัล โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 3 รายการ รวมทั้งสิ้น 9 รางวัล
1.รางวัลชุดข้อมูลยอดนิยม ประจําปีงบประมาณ 2565 “DIGI TOP DATA AWARDS” (3 รางวัล)
2.รางวัลชุดข้อมูลยอดนิยมตลอดกาล “DIGI EXCELLENCY DATA AWARDS” (3 รางวัล)
3.รางวัล “EXCELLENCY OPEN DATA HUB” (3 รางวัล)
นายแพทย์พิเชฐ กล่าวว่า ชุดข้อมูล “การตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” ได้รับรางวัลชุดข้อมูลยอดนิยม ประจําปีงบประมาณ 2565 “DIGI TOP DATA AWARDS 2022” ซึ่งเป็นรางวัล ที่มีเกณฑ์การคัดเลือกจากชุดข้อมูลที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุด ระหว่างช่วงปีงบประมาณ 2565 และตรงตามเกณฑ์ ที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กำหนด
“ชุดข้อมูลการตรวจวิเคราะห์แอลกอฮอล์ในเลือด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (อัพเดทข้อมูลปีงบประมาณ 2565 ไตรมาส 1 (1 ตุลาคม 2564-31 ธันวาคม 2564)) ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ https://www3.dmsc.moph.go.th และในศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ภายใต้ชื่อ “data.go.th” โดยข้อมูลที่เผยแพร่อยู่ในรูปแบบไฟล์ที่สามารถแสดงตัวอย่างข้อมูล (Preview) การแสดงข้อมูลด้วยภาพ (Visualization) และเอพีไอ (API) แบบอัตโนมัติให้กับชุดข้อมูลที่เผยแพร่ได้ รวมทั้งยังสามารถจัดการชุดข้อมูลและเมทาดาตาของข้อมูลได้อีกด้วย ซึ่งประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ สามารถดึงข้อมูลที่เผยแพร่นำไปใช้ประโยชน์หรือเป็นข้อมูลต่อยอดการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานได้”นายแพทย์พิเชฐ กล่าว