สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดตัวเครื่องจำลองการรักษาด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขนาด 1.5 เทสลา (MRI Simulator)

www.medi.co.th


สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เปิดตัวเครื่องจำลองการรักษาด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขนาด 1.5 เทสลา (MRI Simulator) เครื่องแรกของกรมการแพทย์ เพื่อช่วยแยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อชนิดต่าง ๆ ทำให้สามารถกำหนดรอยโรคได้อย่างชัดเจน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการรักษาด้วยการฉายรังสี และการใส่แร่ เพื่อให้การรักษามีความแม่นยำ และช่วยลดปริมาณรังสีในอวัยวะข้างเคียงได้มากยิ่งขึ้น


นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า การจำลองการรักษาโดยการนำภาพสะท้อนด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มาร่วมกับภาพจากเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) จะช่วยให้แพทย์สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ได้ดี ทำให้มองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจนและละเอียดยิ่งขึ้น ด้วยคุณลักษณะเด่นดังกล่าวทำให้แพทย์สามารถกำหนดพื้นที่รังสีสูงให้กับก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรค ในขณะเดียวกันสามารถจำกัดปริมาณรังสีของอวัยวะสำคัญข้างเคียง เพื่อลดผลข้างเคียงจากการรักษาที่ไม่พึงประสงค์ กรมการแพทย์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงมอบหมายให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ดำเนินการจัดหาเครื่องจำลองการรักษาด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า มาช่วยในขั้นตอนจำลองการรักษาเพื่อรองรับการให้การรักษาด้วยรังสีไม่ว่าจะเป็นการใส่แร่แบบสามมิติ หรือเทคนิคการฉายรังสีขั้นสูงแบบปรับความเข้ม ไปจนถึงเทคนิคการฉายรังสีศัลยกรรมได้อย่างเหมาะสม


นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องจำลองการรักษาด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขนาด 1.5 เทสลา (MRI Simulator) นั้น สามารถใช้จำลองการรักษาได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับคลื่นวิทยุ (Radiofrequency, RF) มาใช้ในการสร้างภาพได้ทั้งแบบ Axial, Coronal, Sagittal และแบบสามมิติ (Three Dimension) ในรูปแบบต่างๆ เป็นเครื่องที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีโปรแกรมการตรวจรักษาที่ครอบคลุมการใช้งาน ตั้งแต่บริเวณสมอง ศีรษะ ลำคอ ลำตัว ช่องท้อง อุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้อและกระดูก ไปจนถึงสามารถตรวจแบบ Whole body scan ได้


ปัจจุบัน ภาพสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI) มีบทบาทมากขึ้นในการนำมาใช้ในขั้นตอนจำลองการรักษาของการฉายรังสีแบบภายนอก (External beam radiotherapy) โดยนำมาช่วยกำหนดขอบเขตของก้อนมะเร็งและช่วยแยกอวัยวะสำคัญใกล้เคียงได้อย่างชัดเจน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดผลข้างเคียงจากการฉายรังสี โดยใช้ในโรคมะเร็งและเนื้องอกในแทบจะทุกส่วนเช่นมะเร็งหรือเนื้องอกที่สมอง (Brain tumor) มะเร็งในศีรษะและลำคอ (Head and neck cancer) มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) มะเร็งลำไส้ตรง (Rectal cancer) และมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) ในส่วนของการใส่แร่ (Brachytherapy) นั้น ภาพสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (MRI) ช่วยให้แพทย์สามารประเมินระยะของโรคได้แน่ชัดตั้งแต่ก่อนการใส่แร่ ทำให้การกำหนดขอบเขตของก้อนมะเร็งมีความแม่นยำมากขึ้น ช่วยในการตัดสินใจเลือกเทคนิคการใส่แร่และอุปกรณ์ที่ใช้ได้อย่างเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และใช้ในการติดตามการตอบสนองในระหว่างการรักษา ทำให้กำหนดปริมาณรังสีสูงได้ครอบคลุมก้อนมะเร็งมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถจำกัดปริมาณรังสีไปยังอวัยวะข้างเคียงโดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ