สปสช.ลงพื้นที่ดูการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รพ.สต.บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือผ่านกลไก 3 หมอ พบปี 2565 คัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเป้าหมายได้ตามเป้า หลังสื่อสารด้วยการให้ความรู้ ย้ำ หากเจอเร็วมีโอกาสรักษาหาย หญิงไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาพยาบาลสามารถคัดกรองได้ตามสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ผู้บริหาร นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือ ต.ศีรษะกระบืออ.องครักษ์ จ.นครนายก เพื่อเยี่ยมชมโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่ผ่านกลไก 3 หมอ โดยมี พญ.อรรัตน์ จันทร์เพ็ญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายกนายสามารถ วงษ์ปาน สาธารณสุขอำเภอองครักษ์ (สสอ.องครักษ์) นายจรัล กองจันดา ผู้อำนวยการ รพ.สต. บ้านคลอง 23ฝั่งเหนือ และ ดร.สุเทพ อาญาเมือง หัวหน้าสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ศีรษะกระบือ ต้อนรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดำเนินงาน
นายจรัล กองจันดาผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านคลอง 23ฝั่งเหนือ เปิดเผยว่า สำหรับปี 2565 การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของ รพ.สต. บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือทำได้ตามเป้าหมาย สามารถตรวจคัดกรองได้ จำนวน 285 คน หรือคิดเป็น 47.03% จากกลุ่มเป้าหมาย 606 คนซึ่งจากการคัดกรองพบความผิดปกติของเซลล์ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งทั้งหมด 17 คน โดยใน 17 คนจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. พบว่ามีเชื้อไวรัสที่มีความเสี่ยงสูง (HPV 16,18)ที่จะทำให้เป็นมะเร็ง จำนวน 3 คน และ 2. กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในอนาคต จำนวน 14 คน
อย่างไรก็ดี เมื่อกลุ่มเป้าหมายเข้ามาคัดกรองที่ รพ.สต. แล้ว หากเป็นการตรวจแบบ Pap Smear จะส่งสิ่งส่งตรวจไปที่โรงพยาบาลนครนายก ซึ่งเมื่อได้ผลการตรวจ หากมีความผิดปกติก็จะแจ้งให้กลุ่มเป้าหมายทราบ รับใบส่งตัวจากโรงพยาบาลองครักษ์และเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลนครนายก ส่วนการตรวจแบบ HPV DNA Test จะส่งตรวจที่โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี (คลอง10) เมื่อได้ผลการตรวจแล้ว หากมีความผิดปกติจะแจ้งให้กลุ่มเป้าหมายทราบ และให้รับใบส่งตัวจากโรงพยาบาลองครักษ์เพื่อพบแพทย์ที่โรงพยาบาลนครนายกต่อไป
นายจรัล กล่าวว่า เดิมทีการจะให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาคัดกรองเป็นเรื่องยาก เนื่องจากประชาชนมีความอาย เพราะมีความใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ และเกิดความกลัวหากตรวจพบว่ามีความผิดปกติ ทำให้การดำเนินงานที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ รพ.สต. เปลี่ยนการทำงานใช้การให้ความรู้สร้างความเข้าใจว่าการคัดกรองเป็นการป้องกันโรค โดยจะส่งเป็นบัตรเชิญให้มาตรวจตามนัด การตรวจก็ให้เจ้าหน้าที่จาก รพ.สต. อื่นที่เป็นเครือข่ายเข้ามาช่วยเพื่อลดความอาย และในการคัดกรองจะไม่มีการแจกของเพื่อเป็นแรงจูงใจ แต่จะให้ของประชาชนเข้ามาตรวจผ่านการให้ความรู้ของเจ้าหน้าที่
“บอกให้เขาทราบว่าสุขภาพถ้าตรวจแล้วหมอไม่ได้สุขภาพดี เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีสุขภาพที่ดี แต่คนที่มีสุขภาพดีคือตัวเขา ซึ่งตรงนี้เป็นความห่วงใยจากเราจริงๆ การโทรหาเขาเป็นรายบุคคลถ้ามองในมุมของชาวบ้านเขาจะรู้สึกว่าเขามีความสำคัญ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรู้สึกห่วงใยเขา ไม่ใช่การห่วงใยแบบหว่านไปทั่ว” นายจรัล กล่าว
พญ.อรรัตน์ จันทร์เพ็ญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายกกล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2565 จ.นครนายกเน้นการขับเคลื่อนเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ และพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไก 3 หมอ ที่ประกอบไปด้วย หมอคนที่ 1 อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักบริบาลในชุมชน และครอบครัวเพื่อคัดกรองขั้นพื้นฐาน หากพบความผิดปกติก็จะส่งให้หมอคนที่ 2 คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน รพ.สต. และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อยืนยันความผิดปกติที่เกิดขึ้น หากประเมินแล้วว่าความผิดปกตินั้นอยู่ในระดับเสี่ยง หรือเกิดโรคแล้วก็จะส่งต่อให้หมอคนที่ 3 คือ แพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สสอ.องครักษ์ ร่วมกับ อบต.ศีรษะกระบือ และ รพ.สต.ในพื้นที่จัดทำโครงการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชน โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ทำให้เกิดการขับเคลื่อน และมีผลงานออกมาเป็นที่ประจักษ์ เช่น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ถือว่าเป็นโครงการที่คุ้มค่า ตรวจง่าย ไม่เจ็บ ซึ่งมะเร็งปากมดลูกหากตรวจพบเร็วสามารถรักษาให้หายขาดได้
“ผลงานของ รพ.สต. บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือ ในเรื่องการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มีกลุ่มเป้าหมายคัดกรอง 606 คน สามารถทำผลงานได้ 285 คน คิดเป็น 47.03% ซึ่งจริงๆ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าปีละ 20% ถือว่าสูงกว่าเป้าหมาย” พญ.อรรัตน์ กล่าว
ดร.สุเทพ อาญาเมือง หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต. ศีรษะกระบือ กล่าวว่า อบต.ศีรษะกระบือมีนโยบายดูแลสุขภาพประชาชนอยู่แล้ว เช่น การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในพื้นที่ ซึ่งก็ได้มีการสมทบเงินเข้ากองทุน กปท. จำนวนปีละ 1.3 แสนบาทร่วมกับ สปสช. รวมไปถึงสมทบงบประมาณเพื่อใช้ดูแลงานสาธารณสุขด้านอื่นอีกด้วย จากการดูรายงานตามแผนก็พบว่าการดำเนินงานประสบความสำเร็จพอสมควร
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นสิทธิประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับสุภาพสตรีไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษา ซึ่งความพิเศษของมะเร็งปากมดลูกหากเจอในระยะเริ่มต้น ยังไม่มีการแพร่กระจาย และได้รับการรักษาเร็วก็มีโอกาสหายขาดสูง ซึ่งควรจะตรวจสม่ำเสมอทุก 5 ปี เพื่อดูความผิดปกติของเซลล์
อย่างไรก็ดี เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปก็มีการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีใหม่ HPV DNA Test ที่จะเป็นการดูลักษณะทางพันธุกรรมของเซลล์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ฉะนั้นจะทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น และค่าใช้จ่ายไม่ได้แตกต่างจากการตรวจด้วยวิธีเดิม (Pap Smear) ไม่กระทบต่องบประมาณของภาครัฐมาก
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำหรับสตรีไทยที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายไว้แล้ว ดังนั้นถือว่าตอนนี้รัฐบาลได้เข้ามาดูแลเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หากอยู่ในเกณฑ์สามารถเข้าสู่กระบวนการได้ทุกคน
“จากการดูการดำเนินงานของ รพ. สต. บ้านคลอง 23 ฝั่งเหนือ จะมีการร่วมมือกับ อสม. ที่รู้จักคนในพื้นที่อยู่แล้ว และก็เป็นการทำงานร่วมกับท้องถิ่นผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ซึ่งก็จะหนุนเสริมโดยการใช้งบประมาณที่อยู่ในนี้มาเสริมในเรื่องของการคัดกรอง ก็จะทำให้การคัดกรองของเจ้าหน้าที่ไปยังกลุ่มเป้าหมายง่ายขึ้น สะดวกขึ้น จูงใจให้คนเข้าสู่การคัดกรองได้มากขึ้น วิธีการเหล่านี้ใช้ได้ทุกที่ และงบของกองทุน กปท. ก็สามารถใช้ได้ทุกที่เช่นเดียวกัน” ทพ.อรรถพร ระบุ