ด้วยเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ที่ล้ำหน้าในปัจจุบันสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า "สมุนไพรไทยนวโกฐ" ซึ่งประกอบด้วย โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐก้านพร้าว โกฐกระดูก โกฐพุงปลา และ โกฐชฎามังสี ไม่ได้มีสรรพคุณเพียง "แก้ลม" แต่อาจใช้ป้องกันและชะลอการเกิด "โรคอัลไซเมอร์" ได้ต่อไปในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงบุญรัตน์ จันทร์ทอง หัวหน้าห้องปฏิบัติการพิษวิทยาและการตรวจวิเคราะห์ชั้นสูง ศูนย์ตรวจวินิจฉัยทางการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาวิจัยสารสกัดจากสมุนไพรไทยนวโกฐ จนสามารถค้นพบว่ามีกลไกการออกฤทธิ์และให้ผลป้องกันการเสื่อมต่อระบบประสาทในหลอดทดลอง
ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตอบรับตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ "Journal of Ethnopharmacology" (Q1) เมื่อเร็วๆ นี้ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงบุญรัตน์ จันทร์ทอง เป็นผู้ประพันธ์บรรณกิจ (corresponding author) ในผลงานดังกล่าว
แม้จะเป็นเพียงความสำเร็จในหลอดทดลองกับแบบจำลองเซลล์ประสาทและเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อประสาท แต่มีแนวโน้มที่จะสามารถขยายผลเพื่อพัฒนาสู่ยาป้องกันและชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ต่อไปในอนาคต เนื่องจากพบว่าตัวยาจากสารสกัดสมุนไพรไทยนวโกฐสามารถลดกระบวนการอักเสบของประสาทและสมองได้
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงบุญรัตน์ จันทร์ทอง ยังได้ค้นพบฤทธิ์ทางยาที่สามารถลดกระบวนการอักเสบของประสาทและสมอง ในพืชสมุนไพร "กระชายดำ" และ "รางจืด" ซึ่งจะพัฒนาควบคู่ต่อไปด้วยในขณะเดียวกัน
อนาคตของพืชสมุนไพรไทยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการมองเห็นคุณค่าสู่การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงได้มากน้อยเพียงใด มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็นกำลังสำคัญให้ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมาย BCG ส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ และสุขภาวะที่ยั่งยืนของมวลมนุษยชาติต่อไปในอนาคต
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210