สร้างสรรค์สังคมไทย ปลอดจากภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

www.medi.co.th

 

 


เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก งานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 ภัยแอลกอฮอล์ : ความเสมอภาค และการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน หัวข้อ “พัฒนาการสำคัญของการขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ปลอดภัย”  


 


      ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ อยู่คู่กับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมมาอย่างยาวนาน แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่า ‘ภัยแอลกอฮอล์’ สร้างผลกระทบมากมายมหาศาลทั้งในมิติทางสุขภาพและมิติทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาอุบัติเหตุ ความรุนแรง อาชญากรรม หรือโรคร้ายต่าง ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถลดความสูญเสีย และผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากภัยแอลกอฮอล์ได้ในระดับที่ถือว่าน่าพอใจ


        ด้วยเหตุนี้ สสส. จึงร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 ภัยแอลกอฮอล์ : ความเสมอภาค และการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน หัวข้อ “พัฒนาการสำคัญของการขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ปลอดภัย” ที่ศูนย์จัดประชุมคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ จ.สงขลา เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่สาธารณะ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง นักวิชาการ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกลไกการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อควบคุมขนาดและปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากภัยแอลกฮอล์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า สสส. ขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยยุทธศาสตร์ไตรพลัง โดยเชื่อมโยงภาคีหลัก เพื่อสร้างเป้าหมายร่วมในการขับเคลื่อนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนเชื่อมร้อยการทำงานเพื่อเสริมพลังซึ่งกันและกัน สร้างการมีสุขภาวะที่ดี และดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีจุดเน้นในการทำงาน ดังนี้


1. การพัฒนาและผลักดันนโยบายสาธารณะ และสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมและประชาชน


2. การพัฒนาฐานข้อมูลเชิงวิชาการและจัดการความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการผลักดันงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ตลอดจนเพื่อสนับสนุนงานรณรงค์การขับเคลื่อนเชิงนโยบายและการติดตามประเมินผล


3. การพัฒนาต้นแบบ นวัตกรรมหรือรูปแบบการดำเนินงานใหม่ ๆ ที่ทำให้ลดอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงรณรงค์สร้างกระแสสังคม เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหา และสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในการร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านช่องทางการสื่อสารและการทำงานของภาคีเครือข่าย

นางสาวอภิชญา ลิ้มพันธุ์อุดม หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์  กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มอ. ดูแลบุคลากรครอบคลุมทุกด้าน โดยจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการเป็นพื้นที่ปลอดภัย จัดสรรพื้นที่ดูแลสุขภาพ เช่น ฟิตเนส สนามฟุตซอล สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดแอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติด มีการสร้าง mindset ให้บุคลากรและนักศึกษา มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม เพื่อดูแลสุขภาพ แทนการรวมกลุ่มปาร์ตี้สังสรรค์ รวมทั้งมีระบบติดตามผลกิจกรรมประเมินสุขภาพ หากพบว่าบุคลากรท่านใดมีปัจจัยเสี่ยง ก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญ HR Cafe เพื่อให้บุคลากรสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษา และเข้ามาพูดคุยเป็นการส่วนตัวอีกด้วย

 


.ดร.พญ. สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ได้เล่าถึงการทำงานเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดจากภัยแอลกอฮอล์ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการดื่มที่น้อยลง หรือไม่เกิดอันตรายจากการดื่มมีอยู่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ตัวบุคคลและพฤติกรรมทั้งคนดื่ม คนขาย และคนให้บริการ 2. สถานที่ดื่ม เช่น ร้านเหล้า บาร์ งานเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลอาหาร เทศกาลดนตรี และ 3. สิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่แออัด แหล่งท่องเที่ยว สถานศึกษา โดยหาวิธีการจัดการและปรับบริบท เพื่อให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ และปลอดจากภัยแอลกอฮอล์ โดยการออกนโยบายที่ชัดเจน และไม่สนับสนุนการดื่ม รวมทั้งสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้กับผู้ดื่ม และผู้ขาย โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา ที่จะเป็นการใช้เพื่อนเตือนเพื่อน ทำให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ดีจากภัยแอลกอฮอล์ขึ้น


ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาของ สสส. จนก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 การควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงเป็นภารกิจหลักที่ สสส. จะยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนต่อไป ทั้งการควบคุม บังคับใช้กฎหมาย การสนับสนุนทางวิชาการ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยแอลกอฮอล์ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เพื่อให้สังคมไทยเกิดพื้นที่สร้างสรรค์ ลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ ลดผลกระทบและภาระค่ารักษาพยาบาลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ นำไปสู่การเป็นสังคมสุขภาวะทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา สังคม อย่างยั่งยืน