วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ของทุกปี องค์กรการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำหนดให้เป็น "วันภาษาแม่สากล" เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งทุกภาษาของทุกชนชาติในโลกให้คงอยู่สืบไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐพงศ์ จันทร์อยู่ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในฐานะของผู้พูด คือ การพูดอย่างไรให้คู่สนทนาเข้าใจความหมายของสารที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การออกเสียงอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายของคำและประโยคที่จะสื่อได้ อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบด้านคุณภาพของเสียงมีความแตกต่างกันในแต่ละภาษา การนำองค์ความรู้ทางภาษาศาสตร์ (Linguistics) มาช่วยในการสอน จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น เสียง /th/ เมื่อออกเสียงในภาษาอังกฤษ จะไม่ใช่เสียง ธ.ธง หรือ ท.ทหาร ในภาษาไทย ซึ่งหากผู้เรียนศึกษาด้วยการอ่านตัวเขียน จะทำให้การออกเสียงคลาดเคลื่อนได้
อีกประการหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสำเนียง (Accent) ซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ การเรียนในห้องเรียนมักจะเทียบเคียงสำเนียงมาตรฐาน 2 สำเนียง คือ สำเนียงแบบอังกฤษ (British accent) และสำเนียงแบบอเมริกัน (American accent) แต่ในเวลาสื่อสารจริงเราอาจจะต้องสนทนากับผู้พูดภาษาอังกฤษที่มีความหลากหลาย การให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์กับสำเนียงที่แตกต่างกันก็เป็นส่วนหนึ่งที่หลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษต้องพิจารณาซึ่ง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในโลกยุคปัจจุบัน จึงได้จัดให้มีห้องบันทึกเสียงที่พร้อมด้วยโสตทัศนูปกรณ์ และซอฟต์แวร์โปรแกรมต่างๆ เพื่อใช้ในวิเคราะห์ ศึกษาวิจัยการออกเสียงสำหรับนักศึกษาและบุคลากรไว้อย่างครบครัน
นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมในการเรียนภาษา (Target Language Environment) ก็เป็นเรื่องสำคัญ สาเหตุที่ผู้เรียนซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ไม่สามารถบรรลุผลในการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เนื่องจากขาดโอกาสในการใช้ภาษาอังกฤษ โดยมักพบว่าแม้ผู้เรียนจะมีคะแนนการสอบที่สูง แต่อาจจะไม่สามารถพูดสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีเท่าที่ควร ขณะที่ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกนั้นให้คะแนนความเป็นนานาชาติ (Internationalization) ด้วย แต่ปัจจุบันเนื่องด้วยสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ทำให้มีข้อจำกัดในการรับนักศึกษาจากต่างชาติเข้ามาเรียนในชั้นเรียนปกติ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยยังคงสามารถสร้าง "บรรยากาศความเป็นนานาชาติ" ได้ด้วยการเพิ่มจำนวนหลักสูตรนานาชาติ หรือปรับรายวิชาต่างๆ ที่มีอยู่ให้จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารมากขึ้น
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากจะมีความโดดเด่นในเรื่องการสอนภาษาตามหลักทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ประยุกต์ที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังได้มีการจัดการเรียนการสอนที่คาบเกี่ยวกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ การละครและจิตวิทยา ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อน Liberal Arts Education หรือ "ศิลปศาสตร์บูรณาการ" อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล และการเป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลกต่อไป