รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดหน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขนาด 16 เตียง ที่โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย ช่วยให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟอกไตในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงบริการใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางเข้ามารับบริการในเมือง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดหน่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย และกล่าวว่า โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของระบบสาธารณสุข และเป็นสิ่งที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งรัดการพัฒนาระบบบริการสำหรับผู้ป่วยโรคไต โดยขยายหน่วยบริการฟอกไตไปถึงระดับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการดูแลรักษาสะดวกขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการมากขึ้น พร้อมทั้งผลักดันให้การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับบริการได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
สำหรับโรงพยาบาลเทิง เป็นโรงพยาบาลชุมชน มีประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ 83,919 คน และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ อำเภอขุนตาล อำเภอพญาเม็งราย อำเภอป่าแดด โดยมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังทุกระยะเข้ารับการรักษา 2,048 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 269 ราย จึงมีการพัฒนาบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมขึ้น ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้องรังระยะสุดท้าย ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้เข้าถึงบริการที่สะดวกขึ้นในสถานบริการใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปฟอกไตที่โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายฯ ซึ่งอยู่ห่างถึง 64 กิโลเมตร หรือที่ โรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดพะเยา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับผู้ป่วยและญาติได้อย่างมาก
ทั้งนี้ หน่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โรงพยาบาลเทิง เริ่มเปิดให้บริการวันนี้เป็นวันแรก มีเครื่องไตเทียมให้บริการ 16 เตียง ในระยะแรกจะเปิดให้บริการจำนวน 4 เตียง วันละ 1 รอบ ในวันจันทร์ - วันเสาร์ เวลา 06.00 - 12.00 น. ปัจจุบันมีผู้ป่วยขอขึ้นทะเบียนฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแล้ว 132 ราย เป็นในเขตอำเภอเทิง 103 ราย และนอกเขตอำเภอเทิง 29 ราย คาดว่าในปี 2567 จะเปิดให้บริการได้เต็มศักยภาพ ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังได้ 80-120 รายต่อปี