“ระบบการแพทย์ทางไกล”(DMS Telemedicine)การรักษาที่ไร้ข้อจำกัดทั้งเวลาและสถานที่

www.medi.co.th


Telemedicine คือ อะไร? อธิบายง่ายๆก็คือการนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ VDO conference ที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่ายโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ง่าย สะดวกสบาย ประหยัดเวลา ทั้งยังได้รับบริการเหมือนกับการมารับบริการด้วยตัวเองที่โรงพยาบาล ซึ่งในภาษาไทยจะเรียกว่า “ระบบการแพทย์ทางไกล” นั่นเอง


ปัจจุบันการรักษาแบบ Telemedicineได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อระบบสุขภาพของประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายรอบด้าน อาทิ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ความเสมอภาค เข้าถึงการรักษายากในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล การเป็นสังคมสูงวัย ที่คาดว่าจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยที่สมบูรณ์อย่างรวดเร็ว การเกิดโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำที่มีความถี่มากขึ้น รวมทั้งการระบาดของโรคโควิด 19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่ ประชาชนต้องมีวิถีชีวิต แบบ New normal ส่งผลให้การรักษาแบบ Telemedicine กลายเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในเรื่องของการเดินทาง ประหยัดเวลาในการรอคิว ลดโอกาสที่ผู้ป่วยต้องออกจากบ้าน ลดจำนวนคนภายในโรงพยาบาลและเพิ่มความปลอดภัยจาก Covid-19 อีกด้วย


ปี 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบาย เรื่องการลดความแออัด ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงของประชาชนที่อยู่ห่างไกล ให้เกิดความเสมอภาค เพื่อสนองต่อนโยบายดังกล่าว กรมการแพทย์ได้มีการปรับการให้บริการโดย รพ.สังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง ประกอบด้วย สถาบันผิวหนัง โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) สถาบันทรวงอกได้นำระบบให้คำปรึกษาทางไกล (Tele-Health) มาบริการให้คำปรึกษาในเรื่องการคัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตา ความผิดปกติของปอด และโรคผิวหนัง การดูแลสุขภาพ อำนวยความสะดวกในการสื่อสารด้วยการส่งสัญญาณเสียงและภาพ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ช่วยลดการเดินทางและความแออัดในโรงพยาบาล รวม 35 แห่ง โดย กสทช. สนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ในการตรวจร่างกาย ระบบการสื่อสาร สามารถให้คำปรึกษาเฉพาะทางด้านจักษุ 295 ครั้ง เฉพาะทางด้านทรวงอก 335 ครั้ง เฉพาะทางด้านผิวหนัง 71 ครั้ง

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากรอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่าในช่วงปี 2563 ขณะที่ประเทศไทยเกิดการระบาด Covid-19 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายเรื่องของการบริการที่ทำให้ประชาชนสะดวกปลอดภัยไม่ให้เกิดผลกระทบจาก Covid-19 กรมการแพทย์ในฐานะหน่วยงานหลักในการให้บริการตรวจรักษาแก่ผู้ป่วย ได้นำเอาระบบการรักษาแบบ Video Call มาใช้โดยผู้ป่วยสมัครใจรับบริการและรับยาทางไปรษณีย์ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดภาระหน้างาน เพื่อทุ่มเททรัพยากรในการดูแลรักษาผู้ป่วยใน Covid-19 โดยผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้สมาร์ทโฟนในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้ ส่งผลให้สามารถลด ความแออัดในโรงพยาบาลลงได้กว่า 30%


ต่อมาปี 2564-2565 กรมการแพทย์ได้นำระบบการแพทย์ทางไกล(DMS Telemedicine)มาให้บริการแก่ผู้ป่วยทดแทนระบบ Video Call ในการตรวจรักษา วินิจฉัย ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย รวมถึงการส่งยาให้กับผู้ป่วยที่บ้านทางไปรษณีย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลและสถาบันสังกัดกรมการแพทย์มีการพัฒนาเป็นระบบการแพทย์ทางไกล(DMS Telemedicine)แล้วจำนวน 30 แห่ง เช่น รพ.ราชวิถีมีการให้บริการผ่านระบบ 46,502 ครั้ง สถาบันประสาทวิทยา 6,200 ครั้ง ยังมีการขยายเครือข่ายเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานอื่นๆของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิต 17 แห่ง มีการใช้งานระบบ 2,444 ครั้ง, รพ.ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน 7 แห่ง เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่, นำร่องในโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 3 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติเขาชะเมา, โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติเสาไห้, โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรตินาวัง รวมแล้วมีการใช้งานระบบ 74,647 ครั้ง และโรงพยาบาลราชทัณฑ์ สังกัดกรมราชทัณฑ์อีก 2,980 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 77,627 ครั้ง

 


ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาขยายขีดความสามารถของระบบการแพทย์ทางไกล(DMS Telemedicine)ให้สามารถทำงานเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ IOT เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเชื่อมโยงจัดเก็บข้อมูลประวัติสุขภาพพื้นฐาน ความดัน ชีพจร เพื่อใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองได้ในเบื้องต้น สามารถรองรับการเชื่อมโยงระบบเพื่อยืนยันตัวตนและระบบการชำระเงินผ่านทาง Application เป๋าตัง ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย และยังมีแผนการขยายขีดความสามารถของระบบการแพทย์ทางไกล(DMS Telemedicine)ให้รองรับการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่ซับซ้อนในลักษณะของสหสาขาวิชาเพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ ซึ่งถือเป็นการแบ่งปันทรัพยากรผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขในการให้บริการด้านสุขภาพของประเทศอีกด้วย


นอกจากนี้กรมการแพทย์ยังมีการจัดทำระบบPersonal Health Record(PHR)ของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีสมุดประวัติสุขภาพส่วนตัว เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงใช้เป็นข้อมูลประวัติส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาล เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนด้านการบริการระบบสุขภาพ ช่วยให้การจัดการปัญหาสุขภาพเกิดประสิทธิภาพ ช่วยบริหารจัดการและสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยได้แบบทันที มีความถูกต้อง รวดเร็ว สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา