มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM Foundation) จัดงานมอบรางวัลฮีโร่อวอร์ด 2022 (HERO Awards 2022) ขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ในวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ภายใต้แนวคิดเอกภาพในความหลากหลาย “Unity and Diversity” งานนี้ถือเป็นงานที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเปิดโอกาสให้ชุมชนที่ความหลากหลายทางเพศจากนานาชาติ องค์กรไม่แสวงหาประโยชน์ (NGO) สถานทูต ภาครัฐและเอกชน มารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองฮีโร่แห่งปีที่อุทิศตนเพื่อชุมชนเครือข่ายของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
คุณแอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยกล่าวเปิดต้อนรับในงานว่า “ในค่ำคืนนี้ สถานทูตออสเตรเลียภูมิใจที่ได้จัดงานมอบรางวัลฮีโร่อวอร์ด 2022 ที่ช่วยยกย่องเพื่อเชิดชูเกียรติและเชิดชูผลงานที่โดดเด่นของคนทำงานในประเด็นต่อต้านเชื้อเอชไอวีทั่วเอเชียแปซิฟิก ตลอดเวลาที่เราสนับสนุนงานของมูลนิธิแอ็พคอมมาเป็นเวลาหลายปี เราเชื่อว่าสิทธิของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราจะยืนยัดต่อสู้ต่อในเรื่องนี้ไปในทุกเวทีเช่นกัน งานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกลุ่มประชาสังคมอย่างมูลนิธิแอ็พคอมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั่วทั้งภูมิภาคนี้”
งานมอบรางวัลฮีโร่อวอร์ดเป็นงานมอบรางวัลที่จัดขึ้นทุกๆ ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อเชิดชูเกียรติและเชิดชูผลงานที่โดดเด่นของคนทำงานในประเด็นต่อต้านเชื้อเอชไอวี ผลักดันสิทธิความเสมอภาคในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในงานได้มีการระดมทุนเพื่อให้กับมูลนิธิแอ็พคอม ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์และเป็นผู้นำในประเด็นการต่อสู้กับปัญหาเอชไอวี พร้อมทั้งเสริมสร้างสุขภาวะและสิทธิของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วทั้งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งงานมอบรางวัลนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาคธุรกิจ องค์กรชุมชน และหน่วยงานด้านการทูตมากมาย
มูลนิธิแอ็พคอมร่วมกับ 3 องค์กรเครือข่าย ได้แก่ APN+ APTN และ ILGA Asia ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินคัดเลือกผู้รับรับรางวัลในปีนี้ ดังนี้
1. รางวัลสาขาพันธมิตรธุรกิจดีเด่น (Business Ally) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Foodpanda จากประเทศไทย
บริษัทที่เป็นเหมือนบ้านสำหรับพนักงานทุกคน โดยไม่สนใจเรื่องความแตกต่างทางเพศ อีกทั้งยังเป็นที่ทำงานที่พนักงานทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่
2. รางวัลสาขาพันธมิตรชุมชนดีเด่น (Community Ally) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Tebeio Tamton จากประเทศคิริบาส
ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Boutokaan Inaomataia ao Mauriia Binabinaine Association (BIMBA)
3. รางวัลสาขา “ฮีโร่” ชุมชนดีเด่น (Community Hero supported by ILGA Asia): ผู้ที่ได้รับรางวัลคือ Rosanna Flamer-Caldera จากประเทศศรีลังกา
ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารองค์กร EQUAL GROUND ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีมายาวนานที่สุดและมีความหลากหลายอย่างแท้จริงในการต่อสู้เพื่อให้สิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรอบสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริงในประเทศศรีลังกา
4. รางวัลสาขาองค์กรชุมชนดีเด่น (Community Organisation) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Blue Sky Society Company Limited จากประเทศเวียดนาม
องค์กรที่เปรียบเสมือน "บ้าน" สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศเวียดนามที่ให้บริการที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการการรักษา แต่ไม่กล้าลงทะเบียนในโครงการการรักษาทางสาธารณสุขเนื่องจากกลัวข้อมูลจะเปิดเผยสู่สาธารณะได้
5. รางวัลสาขา “ฮีโร่” โควิด-19 ดีเด่น (Covid-19 Hero) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Association of People Living with HIV/AIDS (APL+) จากประเทศลาว
ระหว่างที่มีล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19 องค์กร APL+ ได้รวบรวมข้อมูลสถิติต่าง ๆ จากกลุ่มประชากรหลักที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อเอชไอวี (Key Populations) เพื่อระบุปัญหาต่าง ๆ ที่พวกเขาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกับวางแผนในการรับมือช่วยเหลือประชากรกลุ่มเหล่านี้
6. รางวัลสาขาสุขภาพและสุขภาวะดีเด่น (Health and Wellbeing) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Dr Wong Chen Seong จากประเทศสิงคโปร์
แพทย์ที่ปรึกษาที่ร่วมมือกับสมาชิกขององค์กรชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อก่อตั้งองค์กรเครือข่ายของชุมชนที่สำคัญขึ้น โดยมีจุดประสงค์ในการช่วยฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในภาคส่วนต่าง ๆ ให้สามารถสื่อสารและให้บริการผู้ป่วยและลูกค้าที่เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ
7. รางวัลสาขา “ฮีโร่” ด้านเอชไอวีดีเด่น (HIV Hero supported by APN+) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Yasir Ali Khan จากประเทศปากีสถาน
บุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงเอชไอวี ในฐานะนักเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่รวบรวมกลุ่มคนเพื่อสนับสนุนกลุ่มประชากรหลักที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อเอชไอวี (Key Populations) ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีความเชี่ยวชาญด้านการลดอันตรายในปากีสถานอีกด้วย
8. รางวัลสาขาความยุติธรรมทางสังคมดีเด่น (Social Justice) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Nada Chaiyajit จากประเทศไทย
ที่ปรึกษาในการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ชนะคดีความเรื่องเครื่องแบบการแต่งกายตามเพศสภาพ และช่วยสร้างแบบอย่างสำหรับหลักกฎหมายเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกในประเทศไทย
9. รางวัลสาขา “ฮีโร่” คนข้ามเพศดีเด่น (Transgender Hero supported by APTN) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Rully Mallay จากประเทศอินโดนีเซีย
อาสาสมัครที่ชุมชน Transpuan ในเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียที่ช่วยจัดระเบียบชุมชน เสริมสร้างศักยภาพของผู้บริหารองค์กร และพร้อมทั้งดำเนินการสร้างเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจโดยเพิ่มความยืดหยุ่นของชุมชนจากความเปราะบางต่าง ๆ
10. รางวัลสาขาคนรุ่นใหม่กับความสำเร็จดีเด่น (Young Achiever) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Jeremy Tan จากประเทศมาเลเซีย
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเยาวชนคนหนึ่งที่เป็นผู้สนับสนุนในการเสริมสร้างองค์กรด้านสุขภาพในมาเลเซียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้มีการบูรณาการรูปแบบการดูแลสุขภาพทั่วไปกับการเข้าบริการสุขภาพด้านเอชไอวีไปด้วย เช่น การทดสอบ การให้คำปรึกษา และการส่งต่อการรักษา เป็นต้น
11. รางวัลสาขา ชีพอนันดา คาน เพื่อเชิดชูความสำเร็จยอดเยี่ยม (“Shivananda Khan Award” for Extraordinary Achievement) ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Senator Risa Hontiveros จากประเทศฟิลิปปินส์
วุฒิสมาชิกผู้สนับสนุนด้านสุขภาพและสิทธิสตรีที่เป็นทั้งนักเคลื่อนไหวและผู้สนับสนุนกลุ่มคนชั้นล่าง เธอเป็นวุฒิสมาชิกหญิงสังคมนิยมคนแรกของฟิลิปปินส์ อีกทั้งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับการยกย่องจากการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของในการส่งเสริมสาธารณสุข สิทธิของผู้หญิงและกลุ่มคนชายขอบอื่น ๆ รวมถึงชุมชนที่มีความหลากหลายทางเ
อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่: https://www.apcom.org/apcom-hero-awards-2022s-honourees-list/
“ผู้ที่ได้รับรางวัลฮีโร่ อวอร์ดของเราต่างได้บอกเล่าถึงเรื่องราวอันทรงพลังของการไม่ยอมแพ้ในอุปสรรคใด ๆ ด้วยการสร้างสังคมที่ครอบคลุม เท่าเทียม และยุติธรรมมากขึ้น แม้จะมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 งานต่าง ๆ ที่พวกเขาทำก็ประสบผลสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยมมาก
งานมอบรางวัลนี้จึงเป็นเหมือนเวทีที่ช่วยเน้นย้ำความพยายามของพวกเขานั้นเอง” คุณมิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ็พคอม กล่าว
งานนี้ได้รวบรวมผู้เข้าร่วมเกือบ 300 คน จากหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งแขกที่มีชื่อเสียง แขกรับเชิญพิเศษ ตัวแทนชุมชน กลุ่มผู้ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ สมาชิกของสาขาการทูต องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และสื่อบันเทิงต่าง ๆ ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อยกย่องความพยายามและความเสียสละของบุคคลและองค์กรที่ยกระดับและพัฒนาชีวิตของชุมชนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และ ผู้ได้รับผลกระทบและใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อเอชไอวีทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนี้ คุณโจ้ ชลวิศว์ ให้เกียรติกลับมาเป็นพิธีกรในงานอีกครั้ง ร่วมกับพิธีกรคู่ รับเชิญพิเศษอย่างคุณแอนชิลี สก็อต-เคมมิส มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ประจำปี 2564
คุณไมเคิล แบ็ค ทูตจากองค์กรภาคธุรกิจของมูลนิธิแอ็พคอมกล่าวว่า “วันนี้เรามาเฉลิมฉลองให้กับผู้คนที่อุทิศตนและมีความปรารถนาในการช่วยพัฒนาชีวิต ให้ความหวัง และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและชุมชนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายเพศทั่วเอเชียแปซิฟิก ชีวิตของเราดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น เพราะฮีโร่ที่เราเฉลิมฉลองในวันนี้ได้ปรากฏตัวขึ้น และพวกเขาเหล่านี้ปรากฏตัวขึ้นทุกวัน พวกเขาควรได้รับการยอมรับในฐานะผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เราควรส่งเสริมให้ผลงาน ความทุ่มเทและผลกระเทือนที่พวกเขาได้สร้างขึ้นช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับการสร้างนโยบายและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เราทุกคนสมควรได้รับกันเถอะ”
ตลอดทั้งงานมีการต้อนรับแขกด้วยอาหารแบบค็อกเทลและคานาเป้แสนอร่อยเสริฟคู่กับไวน์ชั้นดี ค่ำคืนสุดพิเศษนี้ยังมีการแสดงบนเวทีของศิลปินชื่อดังโดยเจย์ทีม และเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการมินิคอนเสิร์ตโดยซิลวี่ ศิลปินจากค่ายวอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ การแสดงแดร็กสุดอลังการ โดยศรีมาลาและมินนี่ มินาจ และปิดท้ายด้วยแฟชั่นโชว์จากต้น ศิริศักดิ์ นอกจากนี้ภายในงานแขกผู้ร่วมงานยังได้เพลิดเพลินกับนิทรรศการของแคมเปญ Body Positivity โดยมูลนิธิแอ็พคอม มีดนตรีในสวน มีการประมูลเพื่อการกุศลและการจับรางวัล และบูธกิจกรรมจากเครือข่ายและผู้สนับสนุนงานฮีโร่อวอร์ด
พิธีมอบรางวัลฮีโร่อวอร์ดนี้ถือเป็นเวทีที่ช่วยเชิดชูผู้ให้การสนับสนุนและเป็นพันธมิตรที่โดดเด่นในการอุทิศตนเพื่อกลุ่มเครือข่ายผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีจากทั่วเอเชียและแปซิฟิก อีกทั้งยังเป็นเวทีเพื่อแสดงผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจที่พวกเขาได้ทำเพื่อกลุ่มเครือข่ายผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
วันนี้คุณก็สามารถเป็นฮีโร่ได้เช่นกันด้วยการสนับสนุนกองทุนฉุกเฉินมูลนิธิแอ็พคอม #CoronaAPCOMpassion COVID-19 Emergency Fund เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศระดับรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 ในเอเชียแปซิฟิก
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://www.apcom.org/apcom-staffs-donate-salaries-creates-coronaapcompassion/