นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยข้อมูล การตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ในประเทศ และติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบ จากผู้เดินทางเข้าประเทศ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2565 ผลการตรวจเฝ้าระวังแบบ SNP/Deletion ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 299 ราย พบว่า ในภาพรวมสัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 63.3% จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วน 42.9% และเมื่อแยกตามกลุ่ม พบว่า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 23.2% เป็น 43.9% และล่าสุดเป็น 58.8%
จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) มากกว่า 468 ราย (จำนวนนี้รวมจำนวน 216 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเข้าเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID) โดยพบว่า BN.1 และลูกหลาน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน ถึง 4 เท่าตัว การเพิ่มจำนวนที่รวดเร็วของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์กลายพันธุ์ มีความเป็นไปได้ของการเพิ่มจำนวนการติดเชื้อจนกระทั่งทดแทนสายพันธุ์เดิมที่กระจายอยู่ในพื้นที่
นอกจากนี้พบสายพันธุ์ XBB.1 จำนวน 4 ราย และ BQ.1 จำนวน 7 ราย สำหรับสายพันธุ์ XBC หรือเดลตาครอน ขณะนี้พบในประเทศไทยแล้ว จำนวน 1 ราย ทั้งนี้สายพันธุ์ XBC เป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอน BA.2 โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 รายงานพบสายพันธุ์ XBC จากหลายประเทศบนฐานข้อมูลสากล GISAID จำนวน 153 ราย ทั้งนี้ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น โดยในรายของผู้ป่วยที่ตรวจพบสายพันธุ์ XBC เป็นรายแรกของไทยนั้นปัจจุบันหายเป็นปกติดีแล้ว
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกรายสัปดาห์ พบว่า
• BA.5 และสายพันธุ์ลูกหลาน ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลก คิดเป็น 72.1%
• BA.4 และสายพันธุ์ลูกหลาน ลดจากสัปดาห์ก่อนจาก 3.6% เป็น 3.0%
• BA.2 และสายพันธุ์ลูกหลาน คิดเป็น 9.2% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
• BA.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบน้อยกว่า 1%
• BQ.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (จาก 19.1% พบเพิ่มเป็น 23.1%)
• XBB (สายพันธุ์ลูกผสมของ BA.2.10.1 และ BA.2.75) และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (จาก 2.0% พบเพิ่มเป็น 3.3%)
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวล ที่อาจมีต่อความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของมาตรการทางสาธารณสุข หรือคุณสมบัติของอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของเชื้อไวรัส เป็นข้อมูลสนับสนุนการออกแบบการรักษา การให้ยาต้านไวรัส หรือ แอนติบอดีสังเคราะห์ ในช่วงเวลานี้มาตรการส่วนบุคคล เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือ ยังจำเป็น เพื่อลดการระบาดของโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถลดความรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่ม 608” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
กรมวิทย์ฯ ตรวจพบสายพันธุ์ XBC หรือเดลตาครอน รายแรกของไทย ปัจจุบันผู้ติดเชื้อหายเป็นปกติแล้ว ส่วนโอมิครอน BA.2.75 และลูกหลาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็น 63.3 % จาก 42.9%
www.medi.co.th