กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะ 7 สิ่งควรเลี่ยง งดเสี่ยงโรคมะเร็ง เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เลี่ยงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ชวนปฏิบัติสุขบัญญัติจนเป็นนิสัย สร้างสุขภาพดีต้าน โรคร้าย ใกล้ตัว
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากปัญหาด้านสุขภาพ พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ซึ่ง “มะเร็ง” คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติเกิดเป็นก้อนเนื้อที่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ผ่านทางระบบเลือด หรือระบบทางเดินน้ำเหลือง โรคมะเร็งมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดของโรค และชนิดของเซลล์มะเร็ง ซึ่งหน่วยงานด้านสุขภาพรณรงค์ให้ประชาชนลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่นเดียวกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่ได้ส่งเสริมให้หมู่บ้าน ชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยมีแกนนำในการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) ทั่วประเทศ เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน โดยมุ่งเน้น “การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ และการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้องและเหมาะสมตามกลุ่มวัย” สนับสนุนให้ชุมชนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสุขภาพ การสื่อสารสุขภาพ ควบคู่กับ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อลดโรคมะเร็ง ดังกล่าว กรม สบส. ได้เสนอ 7 สิ่งควรเลี่ยง งดเสี่ยงโรคมะเร็ง ดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ งดเว้นการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะบุหรี่ และ สุรา เป็นปัจจัยเสี่ยง ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก 2. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร 3. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม ซึ่งการกินอาหารปิ้งย่างบ่อยๆ หรือ กินเป็นประจำต่อเนื่อง เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ 4. หลีกเลี่ยงอาหารที่ใส่ดินประสิว (ไนเตรท) หรือ สารกันเสีย เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ไส้กรอก เบคอน ไม่ควรกินเป็นประจำหรือกินซ้ำทุกวันต่อเนื่อง เพราะหากสะสมเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ เช่น ตับอ่อน กระเพาะอาหารและลำไส้ได้ 5. หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืด เพราะอาจเป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ท่อน้ำดี 6. หลีกเลี่ยงการรับมลพิษ ฝุ่นควัน สารพิษ สารเคมี เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม หากมีความจำเป็นควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นควัน สวมถุงมือหรืออุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องใช้งานหรือสัมผัสสารเคมี เป็นต้น 7. หลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดดมากเกินไปหรือถูกแดดจัด เนื่องจากอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ควรป้องกันด้วยการใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 15 ขึ้นไป เลือกสวมใส่เสื้อผ้า และอุปกรณ์ กันแดดที่เหมาะสม
ด้านนายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญในการป้องกันโรคมะเร็ง เป็นพฤติกรรมที่มีปัจจัยในหลายด้านที่เกี่ยวข้องหลายสาเหตุ อาจเกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม จากพฤติกรรมการกิน หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม แต่สิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้ คือ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โดยใช้สุขบัญญัติเป็นข้อปฏิบัติที่สามารถนำไปปฏิบัติสร้างสุขภาพที่ดี ต้านโรค ที่ทุกคนสามารถช่วยบอกต่อ ส่งต่อความรู้ด้านพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้