นายกรัฐมนตรีรับ “วัคซีนโควิด 19 คืนรอยยิ้ม ประเทศไทย” ล็อตแรก 2 แสนโดส

องค์การเภสัชกรรม

นายกรัฐมนตรีรับวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรก 2 แสนโดส คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย พร้อมฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

           นายกรัฐมนตรีรับวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรก 2 แสนโดส คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย พร้อมฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็วที่สุด หลังผ่านการตรวจมาตรฐานที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
          วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับวัคซีนโควิด 19 จากสาธารณรัฐประชาชนจีน “วัคซีนโควิด 19 คืนรอยยิ้มประเทศไทย” ที่ขนส่งโดยการบินไทยเที่ยวบิน TG 675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม Mr.Yang Xin อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และคณะผู้บริหารของทุกหน่วยงาน เข้าร่วมในพิธี

          พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ วัคซีนล็อตแรกที่รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข โดยองค์การเภสัชกรรมจัดหาเร่งด่วน จำนวน 2 ล้านโด๊ส รองรับการระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ เพิ่มจากแผนจัดหาเดิมที่กรมควบคุมโรคสั่งซื้อจากบริษัท Astra Zeneca โดยวัคซีนล็อตนี้ เกิดจากการเจรจากับ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน (Sinovac Life Sciences Co.,Ltd., People’s Republic of China) ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถส่งวัคซีนให้ประเทศไทยได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้การประสานงานจัดหา โดยสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และมอบให้องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ดำเนินการนำเข้า ขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกระจายไปสู่ประชาชน ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายคนละ 2 โดส และในเดือนมิถุนายนจะได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส โดยใช้งบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 เพื่อปกป้องดูแลคนในประเทศรวม 10,000 ล้านบาท
          นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการด้านวัคซีนโควิด-19 ใน 2 แนวทางคู่ขนานกัน คือ การ ดำเนินการวิจัยพัฒนาวัคซีนขึ้นมาใช้เองในประเทศ เพื่อความมั่นคง การพึ่งพาตนเอง และความยั่งยืนด้านวัคซีนให้กับประเทศ และการดำเนินการเจรจาจัดซื้อจากผู้ผลิตในต่างประเทศให้ได้วัคซีนใช้โดยเร็ว เพื่อฉีดให้กับทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยโดยสมัครใจ สร้างภูมิคุ้มกันโรค ฟื้นเศรษฐกิจ คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย

          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค ที่ได้รับในวันนี้เป็นงวดแรกจำนวน 200,000 โดส และจะได้รับอีก 2 งวด โดยงวดที่ 2 จำนวน 800,000 โดส ส่งมอบในเดือนมีนาคม และงวดที่ 3 จำนวน 1 ล้านโดสในเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส โดยองค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการจัดเก็บวัคซีนทั้ง 2 ล้านโดสนี้ ภายในห้องจัดเก็บยาเย็น และจะจัดส่งกระจายวัคซีนภายใต้มาตรฐานสากล ไปยังโรงพยาบาลตามแผนการฉีดให้กับประชาชนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลไทยในการดำเนินงานด้านการจัดส่งและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดสนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
          นายอนุทินกล่าวต่อว่า วัคซีนโควิด 19 จำนวน 200,000 โดสแรกนี้ เมื่อผ่านการตรวจสอบโดยศุลกากร เจ้าหน้าที่อย. และเจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมแล้ว จะขนส่งไปยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จากนั้น องค์การเภสัชกรรมจะดำเนินการตรวจรับและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง เมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้ว จะจัดส่งกระจายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด
          สำหรับจังหวัดเป้าหมายที่จะได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรกนี้ คือ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, พื้นที่ควบคุมสูงสุด, พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวม 13 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ (ฝั่งตะวันตก) ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ตาก นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎรธานี (อ.เกาะสมุย) และเชียงใหม่ โดยฉีดให้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2.ประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน โดยให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและคัดเลือกจากฐานข้อมูลการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล 3. ประชาชนทั่วไปและแรงงาน ที่มีอายุ 18-59 ปี

          นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม  กล่าวว่า วัคซีนนี้ผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์สัญชาติจีน เชี่ยวชาญการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคระบาด ก่อตั้งในปี 1993  ก่อนหน้านี้ซิโนแวคเคยผลิตวัคซีนมาแล้วหลายตัว เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก สำหรับวัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวคเป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีชื่อว่า "โคโรนาแวค" (CoronaVac) วัคซีนตัวนี้ทำงานโดยการเหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดีต้านโควิด-19 โดยแอนติบอดีจะยึดติดกับโปรตีนบางส่วนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย วัคซีนเชื้อตายเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ถูกใช้มา โดยเป็นวัคซีนในรูปแบบดั้งเดิมที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้ วัคซีนดังกล่าวได้มีการศึกษาในคนระยะที่ 1, 2 และ 3 ในประเทศบราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และชิลีแล้ว มีการรายงานผลว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโควิด-19 ทำให้ในปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้ได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว